สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย( PUBAT) จัดกิจกรรม Read for Thailand อ่านสร้างคน คนสร้างชาติ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 ที่กำลังจัดอยู่ในช่วงนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อขับเคลื่อนการอ่าน ปฏิรูปการเรียนรู้ในประเทศไทย ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกี่ยวกับการอ่าน
นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่าเป้าหมายของกิจกรรม Read for Thailand เพื่อการขับเคลื่อนการอ่าน ร่วมกับภาคีเครือข่ายการอ่านฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ ปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ เริ่มจากการปรับ mindset (ระบบความคิด) ของสังค, เช่น การศึกษาในโลกยุคใหม่ไม่ใช่การท่องสอบโดยตำราเพียงไม่กี่เล่ม แต่ต้องค้นคว้า เรียนรู้ตลอดเวลา ชีวิตในโลกยุคใหม่ มีความไม่แน่นอนสูงมาก คนต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วยชุดความคิดใหม่ๆ ล้มแล้วลุกเร็ว สามารถเริ่มใหม่ด้วยตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า
นางสุชาดา ระบุว่า Read for Thailand จะขับเคลื่อนเป้าหมายปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และคนไทยทั้งประเทศด้วย 4 มิติ คือ
1.มิติวิชาการ ใช้ความรู้เป็นฐานในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ ด้วยการ รวบรวมงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศ “การอ่าน กับการลงทุนในการพัฒนามนุษย์” จัดทำเป็น White Paper (เอกสารข้อมูลสำคัญ) เสนอต่อรัฐบาล/ พรรคการเมือง/ รัฐสภา เพื่อให้ออกนโยบาย/กฎหมาย/กลไกสำคัญที่นำไปสู่การส่งเสริมการอ่าน และแปลงสารที่ได้เป็นหน่วยข้อมูลย่อย เพื่อรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เผยแพร่ใน social media ต่อไป
2.มิติสังคม โดยสร้างฐานประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนการอ่าน ร่วมกันรณรงค์ในสังคมอย่างเป็นเอกภาพและมีพลัง เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ เช่น รวมเครือข่ายต่างๆ เข้ามารวมพลังกัน ประกอบไปด้วย สมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ Thailand Education Partnership,Thailand EF Partnership, เครือข่ายแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจากทั่วประเทศ, เครือข่ายนครแห่งการอ่าน, เครือข่ายโรงเรียน, โครงการหนึ่งอ่านล้านตื่น และมูลนิธิและองค์กรส่งเสริมการอ่านต่างๆ ฯลฯ
3.มิตินโยบาย ปฏิรูปการเรียนรู้ ในทุกระดับ เช่น ระดับชาติ มีกลไกในการขับเคลื่อนการอ่าน องค์กรหรือสถาบันการอ่านแห่งชาติ ส่วนระดับภูมิภาค มีกลไกการขับเคลื่อน เช่น “นครแห่งการอ่าน” และระดับท้องถิ่น ท้องถิ่นมีบทบาทในการส่งเสริมการอ่าน เช่น “ระบบพื้นที่การอ่านท้องถิ่น” เป็นต้น
4.มิติการสื่อสาร สร้างกระแสตื่นตัวต่อการเรียนรู้ ปรับตัว ปฏิรูปการเรียนรู้ คือ ให้คนรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ต้องให้เครื่องมือคือ “การอ่าน” เพื่อให้ผู้คนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง