บอร์ดแข่งขันทางการค้า ตัดสิน 3 คดีใหญ่ สั่งลงดาบเอาผิดเอ็ม-150 ใช้อำนาจเหนือตลาดสกัดคู่แข่ง ปรับ 12 ล้าน “เทสโก้ โลตัส”รอดตัวกรณีคูปอง-โฆษณาบัตร I-Wish ขณะรับซื้อพืชผลเกษตรไม่เป็นธรรมที่แม่ฮ่องสอน สั่งปรับ 25,000
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โดย ศ.ดร.สกนธ์ วัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้เปิดแถลงคำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า( วันที่ 5 ส.ค.2562) จำนวน 3 กรณี ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ดังนี้
กรณีที่ 1 การห้ามขายสินค้าของคู่แข่งในตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
ตัวแทนจำหน่ายได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่า บริษัท เอ็ม-150 จำกัด ได้ทำการห้ามมิให้ขายสินค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังของคู่แข่ง หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่ส่งสินค้าตรา เอ็ม-150 ทำให้ตัวแทนจำหน่ายได้รับความเดือดร้อน โดยเหตุเกิดในระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกรกฎาคม 2555
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อสืบสวนและสอบสวน ข้อเท็จจริงซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่า บริษัท เอ็ม-150 จำกัด เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า ร้อยละ 50 และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมามากกว่า 1,000 ล้านบาท จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยได้กระทำการห้ามมิให้ตัวแทนจำหน่ายขายสินค้า เครื่องดื่มบำรุงกำลังของบริษัทคู่แข่ง หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่ส่งสินค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังตรา เอ็ม-150 ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดการซื้อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ตรา เอ็ม-150 และจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลังตราอื่น ๆ อย่างไม่เป็นธรรม
พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (2) กระทำการแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และ (4) กระทำการอันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดกัน และจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้ร้อง ทำให้ได้รับความสียหาย ขาดกำไรและรายได้จากการขายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง สูญเสียลูกค้า และตามมาตรา 29 เป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับความเสียหาย คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง บริษัท เอ็ม-150 จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 และนายประธาน ไชยประสิทธิ์ ในฐานะกรรมการบริษัทฯ เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ต่อสำนักงานอัยการสูงสุด และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 2 โดยได้ให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสอบสวนเพิ่มเติม
ต่อมาบริษัท เอ็ม-150 จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 และ นายประธาน ไชยประสิทธิ์ กรรมการบริษัทฯ เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบตามมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีอำนาจเปรียบเทียบได้ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ กำหนดจำนวนค่าปรับที่จะเปรียบเทียบแก่ผู้ต้องหาทั้งสอง ได้แก่ บริษัท เอ็ม-150 จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 และนายประธาน ไชยประสิทธิ์ กรรมการบริษัทฯ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นจำนวนเงินรายละ 6 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12 ล้านบาท โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ดำเนินการเปรียบเทียบปรับเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นผลให้คดีเลิกกัน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้ส่งผลการดำเนินการไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อทราบเรียบร้อยแล้ว
กรณีที่ 2 การแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกโดยใช้คูปอง สองเท่าและโฆษณาบัตร “I Wish”
โดยบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (ห้างบิ๊กซี) มหาชน และ บริษัท เซ็นคาร์ จำกัด (ห้างคาร์ฟูร์) ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่า บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้ โลตัส) ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้ตีพิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า “เทสโก้ โลตัส ยินดีต้อนรับลูกค้าคาร์ฟูร์ด้วยใจ สิทธิพิเศษสำหรับ ผู้ถือคูปองคาร์ฟูร์ นำคูปองมาเพิ่มมูลค่าเป็น 160 บาท สำหรับซื้อสินค้าที่เทสโก้ โลตัสและร้านคุ้มค่าที่มียอดรวมตั้งแต่ 600 บาทขึ้นไป ต่อ 1 ใบเสร็จ เมื่อใช้คู่กับบัตรเทสโก้คลับการ์ด สมัครฟรี รวดเร็ว ง่าย ทันใจ
ทั้งนี้ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้ โลตัส) ได้ออกโฆษณาโดยการแจกใบปลิวในพื้นที่บริเวณห้างคาร์ฟูร์ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับห้างเทสโก้ โลตัสอ้างอิงถึงบัตรสมาชิก “ไอวิช” (I Wish) ว่า “สมาชิกบัตร คาร์ฟูร์ I Wish มีโอกาส รับ 200 บาท” และ“บัตรสมาชิกคาร์ฟูร์ไอวิช มีค่าอย่าทิ้ง” โดยมีเงื่อนไข ให้ผู้ที่มีบัตรสมาชิก “ไอวิช” (I Wish) ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกบัตรเทสโก้คลับการ์ดส่ง SMS ไปที่ห้างเทสโก้ โลตัส เพื่อรับบัตรของขวัญมูลค่า 200 บาท สำหรับนำไปใช้จ่าย ในห้างเทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นกระทำการอันเป็นการใช้สถานะของการเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม และกระทำการอันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลเป็นการทำลาย ขัดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบธุรกิจหรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ เป็นเหตุให้ผู้กล่าวหาได้รับความเสียหาย สูญเสียรายได้ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาตรา ๒๕ และ มาตรา ๒๙ (ปัจจุบันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 50 และ มาตรา 57) เหตุเกิดระหว่างวันที่ 23 – 28 มกราคม 2554 วันที่ 15 – 24 กรกฎาคม 2554 และ วันที่ 1 – 24 สิงหาคม 2554
คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสืบสวนและสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการแข่งขันว่า บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้ โลตัส) ผู้ต้องหาที่ 1 และนายเคิร์ท ปีเตอร์ แคมพ์ ในฐานะกรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซึ่งรับผิดชอบสั่งการเกี่ยวกับการดำเนินงานในเรื่องนโยบายให้จัดทำโปรโมชั่นเพิ่มมูลค่าคูปองสองเท่าของนิติบุคคลดังกล่าว กระทำความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดทางอาญา และยังคงหลักการกำหนดความผิดไว้ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อีกทั้งผู้กล่าวหาทั้งสอง ได้มีการฟ้องต่อศาลดำเนินคดีทางแพ่งด้วย
โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6599/2559 วินิจฉัยว่าการจัดรายการส่งเสริมการขายของผู้ต้องหาที่ 1 ที่ได้นำคูปองของผู้กล่าวหาที่ 1 มาเพิ่มมูลค่าเป็นสองเท่าที่ห้างของผู้ต้องหาที่ 1 เป็นการกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ให้ผู้ต้องหาที่ 1 รับผิดชอบ ต่อผู้กล่าวหาที่ 1 เป็นเงิน 2,456,412.88 บาท และรับผิดชอบต่อผู้กล่าวหาที่ 2 เป็นเงิน 1,493,137 บาทส่วนกรณีบัตร I - Wish เนื่องจากเมื่อผู้บริโภคดำเนินการตามที่ห้างเทสโก้ โลตัส โฆษณาไว้ ก็จะได้รับเงิน 200 บาท ไปซื้อของที่เทสโก้ โลตัส แต่ไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องซื้อของที่ห้างเทสโก้ โลตัส ตลอดไป ยังสามารถกลับไปซื้อของที่ห้างบิ๊กซีได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการเป็นสมาชิกบัตรของผู้กล่าวหาที่ 2 ซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้พิจารณาและมีมติว่า บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้ โลตัส) ผู้ต้องหาที่ 1 และนายเคิร์ท ปีเตอร์ แคมพ์ กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กระทำความผิด ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และยังคงหลักการกำหนดความผิดตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 แต่เนื่องจากการกระทำความผิด ตามมาตรา 57 ดังกล่าวได้กำหนดโทษปกครองคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จึงมีความเห็นว่าไม่อาจนำโทษทางปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า การนำหลักบทบัญญัติมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ ในฐานะกฎหมายเป็นคุณ ให้กระทำได้เฉพาะการใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้กับโทษทางปกครองได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะนำเสนอยุติเรื่องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป
กรณีที่ 3 : พฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร
เกษตรกร ตำบลแม่ต้อบใต้ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แจ้งเบาะแสว่านายยุทธ จันตา และนางสาวจำเนียร เหลืองสวรรค์ซึ่งร่วมกันประกอบอาชีพเป็นผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่มีพฤติกรรมกดราคารับซื้อผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้ง ยังมีพฤติกรรมห้ามมิให้ผู้รับรายอื่นเข้ามารับซื้อในพื้นที่ โดยอ้างว่าตนเป็นผู้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกร และหากผู้รับซื้อรายอื่นต้องการซื้อจะต้องซื้อในราคาที่ผู้ถูกกล่าวหากำหนดเท่านั้น เป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจ รายอื่นได้รับความเสียหาย เนื่องจากถูกกีดกันและกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เหตุเกิดระหว่างเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม 2560 (ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูกาล 2560)
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้แต่งตั้งคณะปฏิบัติงานเฉพาะกิจเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่า จากการขยายผลการสืบสวนข้อเท็จจริงพบว่า นายยุทธ จันตา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนางสาวจำเนียร เหลืองสวรรค์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำการข่มขู่ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรรายหนึ่งที่แข่งขันกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองราย จนเป็นเหตุให้ ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรรายดังกล่าว ได้แจ้งความลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.กองก๋อย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ยอมรับว่าตนได้กระทำการข่มขู่จริง อีกทั้งยังได้อ้างกับผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรรายอื่นว่าตนได้นำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่ายให้เกษตรกรเพาะปลูกจึงห้ามมิให้ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรรายอื่นเข้าไปรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรกับเกษตรกรในพื้นที่บ้านแม่ต้อบใต้ หรือหากจะเข้าไปรับซื้อจะต้องรับซื้อในราคาที่ตนกำหนด เป็นผลให้ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรรายอื่นไม่เข้าไปรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่
ตามประเพณีปฏิบัติที่ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจะไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรที่รับเมล็ดพันธุ์จากผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรรายอื่นมาเพาะปลูก ซึ่งจากข้อเท็จจริงผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายได้นำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่ายให้เกษตรกรเพียงบางรายเท่านั้น ทำให้ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร 3 ราย สูญเสียรายได้คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมจำนวนประมาณ 21,000 บาท จึงเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 (3) แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
ในส่วนของข้อกล่าวหากรณีการกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรกับเกษตรกร คณะปฏิบัติงานเฉพาะกิจเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ได้รับจากเกษตรกรผู้ขายสินค้าเกษตรให้กับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองราย พบว่า ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งปรับลดราคารับซื้อต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ เกษตรกรสามารถต่อรองราคารับซื้อได้จึงไม่เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 57 (2) แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองต้องด้วยความผิดตามมาตรา 57 (3) แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ประกอบ ข้อ 10 (6) ของประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำ อันเป็นผลเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น พ.ศ. 2561 และกำหนดค่าปรับให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายร่วมกันชำระตามที่มาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนด ส่วนในกรณีการกดราคารับซื้อผลผลิตทางการเกษตร คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายไม่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 (2) แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขัน
ทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดให้ปรับผู้ฝ่าฝืนได้สูงสุดร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิด ซึ่งในกรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหามีรายได้ปีละประมาณ 5 แสนบาท เมื่อคิดคำนวณอัตราโทษจากรายได้จึงเป็นเงิน 50,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพและให้ความร่วมมือในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานฯ เป็นอย่างดี กอรปกับเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกจึงเห็นควรกำหนดค่าปรับลงกึ่งหนึ่ง ให้เหลือจำนวน 25,000 บาท ซึ่งมีความสอดคล้องกับความเสียหายที่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้รับ