เมื่อเวลา 13.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ดอีอีซี ครั้งที่ 8/2562 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการประชุม นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง แถลงว่า ที่ประชุมกพอ. มีมติเห็นชอบ ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ สาธารณูปโภค หลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นมา 25 ครั้ง จากนี้จะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะไม่ทันเสนอครม.ในวันพรุ่งนี้ และเมื่อครม.อนุมัติ แผนผังนี้จะเป็นผังเมืองรวมแทนผังเมืองรวมที่มีอยู่ทั้งหมด ต่อไปกรมฯจะดำเนินการทำผังเมืองรวมตามพ.ร.บ.ผังเมืองต่อไป ซึ่งไม่มีกรอบเวลาแต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด และคาดว่าจะไม่เกิน 1 ปี เพราะพ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้เดือนพ.ย.นี้ ขั้นตอนจะง่ายลงเนื่องจากเดิมต้องออกเป็นกฎกระทรวง ต่อไปจะออกแค่ประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นขั้นตอนทางกฎหมายจะเร็วขึ้น
ส่วนมีกลุ่มที่คัดค้านผังเมืองนั้น อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การทำผังเมืองมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทุกพื้นที่ แต่ผมว่าในการทำผังเมืองอีอีซีครั้งนี้ เรากระทบภาคเกษตรไม่มาก พื้นที่เกษตรจะหายไป 8% จะเพิ่มเป็นพื้นที่เมือง 3% พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่ม 2% และ 3% ที่เหลือกันเป็นพื้นที่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม หมายถึงบริเวณริมแม่น้ำริมทะเลทั้งหมด อ่างเก็บน้ำ ฯ ส่วนพื้นที่เกษตรชั้นดีที่มีระบบชลประทาน 1.6 ล้านไร่ยังคงไว้ เช่น ที่บางคล้า แกลง แต่พื้นที่เกษตรที่ทำแล้วผลผลิตไม่ดีเชื่อว่าเจ้าของที่คงจะมีความสุขเพราะเปลี่ยนสีให้เป็นเมือง เพราะเขาสามารถเปลี่ยนแปลงไปทำอย่างอื่นได้ และราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยได้วางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตในระยะ 20 ปี 2560 – 2580 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ 8,291,250 ไร่ โดยในปี 2560 มีประชากร 4,015,168 คน และคาดว่าใน ปี 2580 จะเพิ่มเป็น 6,006,380 คน กําหนดให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพ และบทบาทของพื้นที่ พร้อมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และเชื่อมโยงการพัฒนาเมืองและชนบทให้มีความเหมาะสมคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ได้แก่ 1. พื้นที่พัฒนาเมือง ประกอบด้วย ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม ที่ดินประเภทชุมชนเมือง ที่ดิน ประเภทรองรับการพัฒนาเมือง และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 2. พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม 3. พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วย ที่ดินประเภทชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม และที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกากําหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 4. พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อม
สําหรับ ร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค กรมโยธาธิการฯ ได้ดําเนินการจัดทํา แผนผังฯ จาก 8 ระบบ เป็น 5 แผนผัง และ 1 มาตรการ ประกอบด้วย 1. แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบควบคุมมลภาวะ ส่งเสริมระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะที่ไม่ส่งผลต่อชุมชนใกล้เคียง 2. แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง รองรับความต้องการการเดินทางและการขนส่งสินค้าในอีอีซี ในอนาคตอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 3. แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม เพื่อแสดงบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ชุมชนดั้งเดิม ย่านชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษ พร้อมสร้างสมดุลชุมชนเมืองและชนบท คู่กับอนุรักษ์ย่านชุมชนที่มีคุณค่า
4. แผนผังระบบบริหารจัดการน้ํา รองรับความต้องการน้ําอย่างทั่วถึงเหมาะสมเพียงพอ พัฒนาระบบระบายน้ํา ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ 5. แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย เพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี และวัตถุอันตรายจากการจัดเก็บผลิต และการขนส่ง 6. มาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและการประกอบกิจการพิเศษ บริหารจัดการขยะ ของเสีย พลังงาน ป้องกันปัญหา สิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการน้ําอย่างมีประสิทธิภาพสูง