คอลัมน์ผ่ามุมคิด
ยุคนี้กระแสดิจิทัล ดิสรัปชัน กำลังป่วนภาคธุรกิจทั้งหลาย แม้แต่วงการก่อสร้างก็ต้องเตรียมรับมือ ปัจจุบันมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคาร บริษัทด้านการออกแบบ รวมทั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง ทั้งด้านเวลาและต้นทุนดำเนินการ ด้วยเทคโนโลยีระบบ BIM หรือ Building Information Modeling เป็นการสร้างแบบจำลองอาคารในระบบ 3 มิติ แทนการเขียนแบบในอดีตที่เป็นระบบ 2 มิติ ทำให้เจ้าของอาคารได้เห็นแบบอาคารเสมือนจริง ที่สำคัญสามารถแก้แบบก่อนก่อสร้างจริงได้ ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายการก่อสร้างได้
นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association) หรือ TBIM กล่าวว่า ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจก่อสร้างเกือบทุกสาขา ไม่ว่าวิศวกรโครงสร้าง วิศวเครื่องกล สถาปนิก ที่เขียนแบบในระบบเดิมก็ต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี เขียนแบบในระบบ BIM ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศมีการใช้ระบบดังกล่าว ในอาเซียนนี้ประเทศสิงคโปร์ถือว่าลํ้าหน้า มีสมาคม BIM และระบบการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ถ้าอาคารใดออกแบบในระบบ BIM หากเป็นอาคารประหยัดพลังงานด้วย อาจจะได้รับการพิจารณาใบอนุญาตรวดเร็วขึ้นกว่าปกติ หรืออาจจะได้ค่า FAR หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐของไทยควรส่งเสริมให้มีการนำระบบ BIM มาใช้อย่างกว้างขวาง
อมร พิมานมาศ
การที่เราสร้างแบบในระบบ BIM และใช้เทคโนโลยี virtual เข้ามาร่วม ทำให้มองเห็นแบบโครงสร้างอาคารเสมือนเข้าไปในอาคารจริง ได้เห็นถึงรายละเอียดในอาคาร ไม่ว่าประตู ลูกบิด ผนัง ใช้วัสดุประเภทไหน ยี่ห้ออะไร นำไปสู่การวิเคราะห์การใช้พลังงานของห้อง สมัยก่อนยังทำไม่ได้แบบนี้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ยังไม่มีหน่วยความจำที่มีกำลังพอ และไม่เพียงแต่เห็นภาพ 3 มิติ ยังเห็นถึงมิติที่ 4 ,5 และ 6 โดยมิติที่ 4 คือเรื่องของเวลา เพราะเมื่อเป็นภาพ 3 มิติก็สามารถจำลองการก่อสร้าง สามารถคำนวณระยะเวลาการก่อสร้างได้”
มิติที่ 5 คือประเมินงบประมาณค่าก่อสร้าง และมิติที่ 6 คือการบริหารจัดการ ระบบบัญชี -การจัดซื้อ และสุดท้ายโยงไปสู่แฟซิลิตี้ แมเนจเมนต์ จะเห็นว่านี่คือ ดิสรัปทีฟอย่างแท้จริง จะเปลี่ยนจากมุมมอง 2 มิติ ไปเป็น 6 มิติ ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งเรื่องของเวลา ค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการอาคารในอนาคตด้วย
ขณะนี้มีบริษัทด้านสถาปนิก วิศวกร และดีเวลอปเปอร์ใช้ระบบ BIM ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สร้างแบบจำลอง ทั้งที่จริงๆแล้ว BIM จะเป็นเรื่องของการประสานงาน วิธีคิด ทุกส่วนทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ในประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ
“จากการมองเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์เกือบทุกสาขา จึงก่อตั้งสมาคมไทย BIM ขึ้น ซึ่งเดิมรวมตัวกันเป็นชมรม โดยมีจุดมุ่งหมายจะผลักดันให้การทำ BIM เป็นวิชาชีพ มีใบรับรอง และจะมีเงินประจำตำแหน่ง ดังนั้นต่อไปเราจะพัฒนาหลักสูตร BIM Coordinator และ BIM Manager เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งภายใน 3 ปีนี้จะเตรียมกำลังคนด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมขึ้นรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น”
นอกจากธุรกิจเอกชนแล้ว ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น รฟม. ระบุไว้ในทีโออาร์การประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง การออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าต้องออกแบบด้วยระบบ BIM ขณะที่การส่งแบบหรือขออนุญาตก่อสร้างนั้น ด้านกฎหมายยังไม่ได้บังคับต้องใช้แบบระบบ BIM ทางสมาคม จึงอยากจะให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบ BIM ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับภาครัฐในการออกแบบสมาร์ตซิตี เพราะระบบ BIM เป็นฐานข้อมูลแรกสุดของพิมพ์เขียว ดิจิทัลของสมาร์ทซิตี โดยสมาคมจะจัดทำ BIM ไกด์ไลน์เพื่อสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูล ให้ทุกบริษัทนำแบบอาคารที่ออกแบบด้วยระบบ BIM มาเชื่อมโยง ทำให้สมาคมสามารถสร้างเมืองจำลองขึ้นมาได้
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,496 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2562