อีอีซีดึงเขตเศรษฐกิจอากาศ ยานนครเจิ้งโจว เป็นต้นแบบ ร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2 แสนล้าน ลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ 29 สิงหาคมนี้ ทั้งการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในและนอกสนามบิน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน พร้อมหลักสูตรอบรมบุคลากรการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี
นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี 1 ใน โครงการที่สำคัญ เป็นเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนราว 2 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่คาดว่าจะคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ในเดือนกันยายน 2562 นี้ และพัฒนาให้แล้วเสร็จเปิดใช้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ได้มีการศึกษาต้นแบบของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอากาศยานนครเจิ้งโจวของจีน ในการเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศเข้ากับการขนส่งรูปแบบอื่น และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภาให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ได้เห็นชอบอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน และคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว ตามที่สกพอ.เสนอ ซึ่งแต่เดิมมีกำหนดจัดให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับระหว่าง สกพอ.กับรัฐบาล มณฑลเหอหนาน และ Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ ช่วงวันที่ 8-11 เมษายน 2562 ณ เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน แต่เนื่องจากอยู่ช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาล ใหม่ จึงได้มีการเลื่อนลงนามไปก่อน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ จะมีพิธีลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีเนื้อหาของร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง สกพอ. กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน จะประกอบด้วยการสนับสนุนการพัฒนาโครงการศูนย์การบินคู่ขนาน (Aviation Dual Hub Project) ระหว่างจีนตอนกลางและภูมิภาคอาเซียน เสริมสร้างความร่วมมือในการวางแผนพัฒนาพื้นที่สนามบิน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น โลจิสติกส์การบิน การซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตรอบรมบุคลากรการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)
ขณะที่อีกฉบับเป็นบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง สกพอ. กับ ZAEZ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและประสานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอากาศ ยานนครเจิ้งโจว มีสถานะเทียบเท่าเมือง ภายใต้รัฐบาลมณฑลเหอหนาน มีพื้นที่รับผิดชอบในการกํากับดูแล 415 ตารางกิโลเมตร มีท่าอากาศยานนานาชาติเจิ้งโจวซินเจิ้ง หรือ CGO เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวาง แผนและการบริหารจัดการมหานครการบินระหว่างกัน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมการพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เที่ยวบินการค้า และการลงทุน โดยเอ็มโอยู ทั้ง 2 ฉบับจะเป็นการต่อยอดความร่วมมือบนพื้นฐานของบันทึก ความเข้าใจฯ ระหว่าง สกพอ. กับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้ลงนามร่วมกันใน ช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม 2561 ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งได้กำหนดแนวทางความร่วมมือในสาขาต่างๆ รวมถึงการคมนาคมและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย
อีกทั้งจะทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยในการพัฒนามหานครการบินอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หน้า 3 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3500 วันที่ 29-31 สิงหาคม 2562