ผ่าโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนเงินลงทุนสะพัด 5 แสนล.

18 ก.ย. 2562 | 09:20 น.

ทีมที่ปรึกษา “สนธิรัตน์” เผยได้รูปแบบโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว ชี้ศักยภาพสายส่งรองรับได้ 4.1 พันเมกะวัตต์ สร้างโรงไฟฟ้าทั้งชีวมวลและก๊าซชีวภาพได้ 1,563 แห่ง เงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท สร้างรายได้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานปีละกว่า 1 แสนบาทต่อครัวเรือน เล็งชงกพช.ไฟเขียวต.ค.นี้

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน ที่กำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 โดยมอบคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จัดทำรายละเอียดรูปแบบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อนำกลับมาเสนอกพช.อีกครั้ง ซึ่งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ขณะนี้ทีมงานได้ศึกษารูปแบบในรายละเอียดของการดำเนินงานคืบหน้าไปมากแล้ว และพร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอนแนะจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในงานเสวนา “โรงไฟฟ้าชุมชน...ประชาชนได้อะไร?” จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) สถาบันวิทยาการพลังงาน ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำข้อเสนอหรือแนวทาง เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจรูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รูปแบบหรือโมเดลของโรงไฟฟ้าชุมชนเริ่มมีความชัดเจนแล้ว ซึ่งจากการสำรวจโครงสร้างข่ายสายส่งไฟฟ้าที่จะมารับซื้อไฟฟ้านั้น สามารถรองรับโรงไฟฟ้าชุมชนได้ 1,563 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิต 4,125 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ใช้พืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ ร่วมกับมูลสัตว์ เป็นวัตถุดิบ จำนวน 564 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,128 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนแห่งละ 222 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ใช้ไม้สับจากพืชโตเร็ว หรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จำนวน 999 แห่ง รวมกำลังผลิต 2,997 แห่ง ใช้เงินลงทุนแห่งละ 390 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 5.14 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยระยะแรกดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวล 530 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 310 เมกะวัตต์ ตามศักยภาพของชมุชนที่มีวัตถุดิบก่อน

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะให้ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตร ตั้งเป็นบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ จำกัด โดยมีหน่วย งานรัฐถือหุ้น 40% และบริษัท ชุมชนประชารัฐฯ ถือหุ้น 60% ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 40% และเอกชนถือหุ้น 60% ซึ่งเท่ากับว่ารัฐจะเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้า 40% ชุมชน 24% และเอกชน 36% โดยค่าไฟฟ้าที่รับซื้อหากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลจะอยู่ที่ 5.22 บาทต่อหน่วย มีระยะเวลาคือทุน 7.8 ปี และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพอยู่ที่ 5.84 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาคืนทุน 6.5 ปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ดำเนินการ 840 เมกะวัตต์ จะกระทบค่าเอฟทีปีละ 1.5 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ทั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรหรือชุมชน มีรายได้จากการเพาะกล้าพืชพลังงาน และการขายพืชพลังงาน ขณะที่บริษัท ชุมชนประชารัฐและวิสาหกิจชุมชน จะมีรายได้จากการรวบรวม ขนส่ง และจำหน่ายวัตถุดิบ รวมทั้ง รายได้ตามสัดส่วนที่เข้าไปถือหุ้นโรงไฟฟ้า โดยรูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ คาดว่าจะนำเสนอกพช.ได้ภายในเดือนตุลาคม 2562 นี้ และเปิดให้ผู้เข้าร่วมโครงการยื่นข้อเสนอได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และลงนามในสัญญาได้ราวกลางปี 2563

“เกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่ 10 ไร่ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี และรายได้จากการปลูกหญ้าเนเปียร์ 10 ไร่ อยู่ที่ 1.59 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี”  

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,506 วันที่ 19-21 กันยายน 2562