กทปส. หนุนงบดัน 4 แอพพลิเคชันเทเลเฮลธ์ บริการแพทย์ทางไกลในพื้นที่ชนบท แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เชื่อมสถานพยาบาลแล้วกว่า 289 แห่ง
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า จากปัญหาการขาด แคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. จึงได้มีการมอบทุนสนับสนุนด้าน Tele Health แบบครบวงจรให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกได้ยื่นขอทุนต่อเนื่องเพื่อขยายโครงการต่อในปี 2561 ในโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่ 2) เพื่อเชื่อมโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ และเชื่อมกับระบบประมาณ 289 แห่ง จากในระยะแรกมี 13 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 157 แห่ง และโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 132 แห่ง
ด้านนพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่าปัจจุบันจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชาชน ในจังหวัดกรุงเทพมหานครมี 1 ต่อ 700 คน ในส่วนภูมิภาค 1 ต่อ 1,200 คน ในพื้นที่ภาคอีสาน 1 ต่อ 3,000 คน ซึ่งจากงานวิจัยจำนวนที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 300-500 คน สำหรับแอพพลิเคชันที่ได้พัฒนาขึ้นนั้นเป็นแอพในเครือข่ายหมอรู้จักคุณ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 4,334 ราย ซึ่งผู้ป่วยกว่า 50% ไม่จำเป็นต้องหาหมอแต่ต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลความเจ็บป่วยจะช่วยให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ลดลง แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยการเพิ่มความรู้ในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน
ทั้งนี้แอพพลิเคชันในเครือข่ายหมอรู้จักคุณประกอบด้วย 4 แอพหลักคือ 1.หมอครอบครัว (PCC Team) สำหรับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และทีมแพทย์หมอครอบครัว เพื่อการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมถึงใช้ในการติดต่อผู้ป่วย บันทึกข้อมูลผู้ป่วยลงในระบบเพื่อลดความซํ้าซ้อนในการบันทึกประวัติ โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถค้นหาผู้ป่วยด้วย Face ID หรือรหัสบัตรประชาชนที่เคยได้รับการรักษาและมีประวัติอยู่ในระบบสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านช่องทางการแชตได้ 2.แอพ อสม. สำหรับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ใช้สำหรับเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ติดตามการคุ้มครองและฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้แอพ อสม. จะใช้บันทึกข้อมูลกการทำงานของเจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อส่งเป็นรายงานให้กับหัวหน้า อสม. เช่น การบันทึกข้อมูล รายงานลูกนํ้ายุงลาย โดยข้อมูลราย งานดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เมื่อมีผู้ป่วยไข้เลือดออกระบาดในพื้นที่นั้นๆ และสามารถติดต่อสื่อสารกันระหว่าง อสม.และบุคลากรทางการแพทย์ผ่านช่องทางการแชตได้อีกด้วย
3. NUMED แอพให้คำปรึกษาทางการแพทย์ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยที่ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของตนเองไม่ว่าจะมีประวัติการรักษาจากที่ใดก็ตาม มีการพัฒนาฟังก์ชันการเชื่อมต่อบริการในการจัดตารางเวรเพื่อให้คำปรึกษา ฟังก์ชันการสนทนา (Chat) ที่สามารถส่งข้อมูลภาพและวิดีโอแบบกลุ่มได้ โดยได้พัฒนาระบบการปรึกษาแบบแยกตามกลุ่มความเชี่ยวชาญของแพทย์ รวมทั้งทำการจัดเก็บ (backup data) และบริหารจัดการข้อมูลจากระบบ ศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์มายังเซิร์ฟเวอร์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้สามารถใช้ข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น และ 4.HEALTH ประชาชน แอพพลิเคชันให้บริการประชาชนสามารถติดตามดูแลสุขภาพของตนเองผ่านสมาร์ทโฟน รายงานประวัติทางการแพทย์ ประวัติ การจ่ายยาที่ผ่านมา สามารถใช้ในการพูดคุยหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยตรงจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษา รวมถึง จองคิวกับสถานพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษา
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3512 ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2562