นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม สรุป แนวทางยุติข้อพิพาท ค่าโง่ทางด่วน ระหว่าง กทพ. กับ BEM ด้วยวิธีแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด โดยต่อขยายระยะเวลาสัมปทานทั้ง 3 สัญญาไปสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ตุลาคม 2578 รวม15 ปี 8 เดือน นับจากวันที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C สิ้นสุดลง โดยไม่มีการลงทุนปรับปรุงทางด่วน ชั้นที่ 2(Double Deck) และวันที่ 24 ธันวาคม 2562เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นจะเรียก BEM เข้ามาเจรจา หาก ได้ข้อยุติ
จะส่งผลการเจรจา ขอความเห็นชอบไปยังคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 และส่งร่างสัญญาที่จะแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา แก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 68 ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จก่อนที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C จะ
สิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ รายละเอียด ประกอบด้วย 1.ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน 2. ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน และ 3.ต่อสัญญาทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน
“ฐานเศรษฐกิจ ”สอบถาม ไปยังBEM ซึ่งได้ ให้คำตอบว่า ตามที่กระทรวงคมนาคม พิจารณาต่อสัญญา ทางด่วน จาก เดิม 30ปีเป็น 15ปี8เดือน เพราะ ต้องตัดลงทุนด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck ออกไปก่อน ทำให้สัญญาเหลือเพียง 15ปี แต่มั่นใจว่า โครงการดังกล่าว จะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากวิกฤติจราจรลุกลามหนัก
ย้อนรอยปมค่าโง่ทางด่วน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ยืดเยื้อมากว่า20ปี จากการ2ประเด็นใหญ่ กรมทางหลวงสร้างทางแข่ง (ทางยกระดับ ( ดินแดง-ดอนเมือง-รังสิต) ส่งผลให้ ทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด มีรายได้ลดลง ขณะเดียวกัน รัฐบาล ยุคนั้นสั่งการให้ BEMลดค่าผ่านทาง ช่วยประคองค่าครองชีพ ประชาชนผู้ใช้ทางช่วงเศรษฐกิจวิกฤติ ซึ่งในทาง ปฏิบัติ รัฐต้องชดเชยตามสัญญาที่ได้ตกลงกัน แต่ที่ผ่านมา มีการเพิกเฉย จึงเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องกรณีทางแข่ง ระหว่างปี2542-2543 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กทพ.แพ้คดี ต้องชดเชยให้BEM 4,300ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย แต่ที่ผ่านมาเพิกเฉยต่อสู้คดีเรื่อยมา ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูน 137,517 ล้านบาท และ หาก กทพ.ยังสู้คดีต่อไป ในหลายๆคดี คาดว่า กทพ.ต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับBEM ไม่ต่ำกว่า 3.2แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ดกทพ.) ชุดก่อนมีมติ 15 พฤษภาคม 2562 ให้ขยาย สัมประทานทางด่วนขั้น2 30ปี แลกกับยุติการฟ้องร้อง ,ลดหนี้เหลือเพียง 5.8หมื่นล้านบาท ภาระหนี้ นับจากหมดอายุสัมปทานในเดือน กุมภาพันธ์2563 พร้อมมอบ BEMก่อสร้างด่วนชั้นที่2 ระยะทาง 17กิโลเมตร มูลค่ากว่า3หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาจราจร ตั้งแต่ช่วงงามวงศ์วาน-บริเวณโรงพยาบาลพระราม9 ขณะ พนักงานสหภาพ กทพ. ยังคัดค้านต่อเนื่องโดยหวังว่า การต่อสู้คดี ของกทพ.น่าจะพลิกกลับมาชนะ ถึงกระนั้น BEM เดินหน้าเจรจา ต่อเนื่อง แต่เมื่อ ถึงยุค ผลัดเปลี่ยนรัฐบาล ยุคคสช. ส่งผลให้ มติ ขยายสัญญา30ปีค่าโง่ทางด่วน มีอันต้องถูกยกเลิก ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาใหม่
และมีกระแสออกมา ต่อเนื่องว่า จะขยาย สัมปทานเพียง 15ปี พร้อมยกเลิก สร้าง ด่วนชั้นที่2 ทั้งๆที่ ภาพจราจรบนทางด่วน ติดขัดอย่างหนัก ผิวจราจร แทบไมมีที่ให้วิ่งมีปริมาณรถสะสมมากกว่า1ล้านคันต่อวัน สร้างความแคลงใจให้กับหลายฝ่าย