ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหลายรอบกับการควบรวมธุรกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)
จนในที่สุดวันนี้ (14 มกราคม 2563) คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.มีมติควบรวม "ทีโอที-แคท" ภายใต้ชื่อ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ให้ดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
นอกจากนี้ยังมีมติยกเลิก ครม.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 กรณีให้ตั้ง เป็น 2 บริษัทย่อย พร้อมรับโอนพนักงานเดิมกลับเข้าทำงาน โดยนับอายุงาน-รับค่าตอบแทนเหมือนเดิม
ผ่าโครงสร้าง
สำหรับแผนควบรวมคือ เมื่อควบรวมแล้วจัดตั้ง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT Co. เพื่อลดการลงทุนซํ้าซ้อน โดยคณะอนุกรรมการ กลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ได้สรุปแผนธุรกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2570 แบ่งโครงสร้าง 5 หน่วยธุรกิจ (ดูตารางประกอบ)
ไฟเขียวประมูล5G
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบหลักการให้ ทีโอที และ แคท เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) ตามเงื่อนไขประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้อง
รอวันยื่นจริง 4 ก.พ.
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ ทีโอที และ แคท รับเอกสารประมูล5G ต้องรอดูผลยื่นเอกสารในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เนื่องจากว่าทั้งสองรัฐวิสาหกิจนี้จะยื่นประมูลทั้งสองรายหรืออาจส่งรายใดรายหนึ่งเข้าประมูล เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการควบรวมธุรกิจทและการได้สิทธิ์ใช้คลื่นเดิมจะสิ้นสุดลงในปี 2568 ที่จะถึง
หากทั้ง ทีโอที และ แคท หรือบริษัทฯ หลังการควบรวมต้องการมีที่ยืนในการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม การเตรียมการมีคลื่นที่เหมาะสมไว้เพื่อให้บริการจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการดำเนินงาน
อีกทั้งหากมองในแง่การผลักดันเรื่อง 5G โดยภาครัฐ การที่กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งไฟเขียวให้รัฐวิสาหกิจเข้าร่วมการประมูลถือเป็นสัญญาณว่าภาครัฐให้ความสำคัญและผลักดันอย่างจริงจัง เนื่องจากการลงทุน 5G มีเม็ดเงินที่สูง การรัฐต้องการให้เกิดได้เร็วการสร้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมโดยภาครัฐก็ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการทำให้นโยบายนี้สัมฤทธิ์ผล
กังวลลงทุน5Gไม่คุ้ม
นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า แต่จุดที่หลายฝ่ายจับตา คือ หากเข้าร่วมประมูลจริงเม็ดเงินที่ต้องใช้ทั้งค่าคลื่นและอุปกรณ์ การลงทุนในโครงข่าย จะมีเม็ดเงินระดับหลายหมื่นล้าน และต้องมีการแข่งขันขยายโครงข่ายและหาลูกค้าแข่งกับเอกชน ถือว่าการดำเนินธุรกิจในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าการได้คลื่นจากการประมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง