นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีเชื่อว่า เป็นเมืองที่แวะพักจอดเรือ เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้าระหว่างพ่อค้าชาวอินเดียทางตะวันตกกับพ่อค้าชาวจีนทางตะวันออก ชนพื้นเมืองบนแผ่นดินและหมู่เกาะใกล้เคียงต่างๆ ทั้งเชื่อว่าเดิมปัตตานีเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่และมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เนื่องจากมีหลักฐานทางโบราณคดีว่า บริเวณอำเภอยะรัง มีซากร่องรอยของเมืองโบราณขนาดใหญ่ซ้อนทับกันถึง 3 เมือง มีวัตถุโบราณ สถานที่ศาสนสถานหลายแห่ง และยังค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก และเมืองนี้น่าสนใจมากๆ ที่ 3 วัฒนธรรมอยู่ในจังหวัดเดียวกัน แถมยังเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงามมากอีกด้วย
ที่แรกพาไป วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม หรือวัดหลวงปู่ทวด ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี ตามตำนานกล่าวว่า พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิษฐาน ปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่าวันหนึ่ง ช้างได้หยุดอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วร้องขึ้น 3 ครั้ง พระยาแก้มดำจึงได้ถือเป็นนิมิตที่ดี จะใช้บริเวณนั้นสร้างเมือง แต่น้องสาวไม่ชอบ จึงให้สร้างวัดแทน แล้วให้ชื่อว่า วัดช้างไห้ แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านลังกา หรือ สมเด็จพะโคะ หรือหลวงพ่อทวดเหยียบนํ้าทะเลจืดมาจำพรรษา ภายในวิหารจะพบรูปหล่อองค์หลวงปู่ทวดตั้งตระหง่านอยู่กลางวิหาร ส่วนภายนอกมีสถูปบรรจุอัฐิหลวงปูทวดไว้ให้กราบไหว้
สักการะต่อที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ศาลเจ้าเก่าแก่อายุมากกว่า 500 ปี มีประวัติอันยาวนานประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม ในวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 3 ของทุก ปี จะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ไปตามถนนสายต่าง ๆ ภายในตัวเมืองปัตตานี ศาลเจ้านี้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนชาวไทย และประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก จึงมีผู้มาบนบานศาลกล่าวขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
มาเมืองแบบนี้ต้องชมเมืองโบราณยะรัง อายุ 1,000 ปี มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตร.กม. เป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกันถึง 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกัน ประกอบไปด้วย เมืองโบราณ บ้าน วัด มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูนํ้าและมีซากเนินดินโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบกว่า 25 แห่ง นับเป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้
มัสยิดกรือเซะ ชื่อนี้คงคุ้นหูกันมานาน ก็ต้องไปชมสิ...ตำนานมัสยิดกรือเซะ ที่ กรือเซะ-บานา เป็นเรื่องราว ที่ได้สร้างความอัปยศให้กับสังคมมุสลิมนับตั้งแต่ได้มีประวัติศาสตร์ อิสลามเกิดขึ้นมาในปัตตานีเริ่มจากรัชสมัยของพระยาอินทิรา แห่งราชวงศ์ RAJA WANGSA ซึ่งพระองค์เข้ายอมรับในศาสนาอิสลาม และมีพระนามว่า สุลต่าน อิสมาแอล ชาห์ ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว มัสยิดกรือเซะ ไม่ได้ถูกสร้างโดยลิ้มโต๊ะเคียม เหมือนกับตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับบอกเล่าต่อๆ กันมา “มัสยิดกรือเซะ” เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปีในจังหวัดปัตตานี รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เสาทรงกลมแบบเสาโกธิกของยุโรป ช่องประตู หน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิก อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง ความสวยงามทำให้นักท่องเที่ยว เข้ามาชมเป็นจำนวนมาก
มาต่อที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีก่อสร้างขึ้นในปี 2497 โดยใช้พื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ย่านตำบลอาเนาะรูกว้าง 3 ไร่ 55 ตารางวา ตามแนวคิดของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องการให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ห่างไกลที่มักมีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่พัฒนาและความแตกต่างทางศาสนามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี รูปทรงคล้ายกับ “ทัชมาฮาล” ประเทศอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่ 2 ข้างสูงเด่นเป็นสง่า และมุมที่พลาดไม่ได้เลยก็คือมุมสะท้อนกับสระนํ้าสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ด้านหน้า
เดี๋ยวจะหาว่าไม่มีธรรมชาติที่สวยงาม เกาะโลซิน เกาะที่เล็กที่สุดในประเทศไทย เป็นเกาะหินปูนขนาดเล็กมาก อยู่ด้านใต้สุดของอ่าวไทยจุดเด่นและสัญลักษณ์ของที่นี่คือประภาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเกาะ ซึ่งตัวประภาคารนี้กินพื้นที่เกือบจะครึ่งเกาะ ทำหน้าที่เป็นจุดสร้างเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ชมปลายสุดแหลมตาชีหรือแหลมโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลตะโละกาโปร์ ต่อเนื่องไปจนถึงตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะจงอย (Sand Spit) ทำให้เกิดอ่าวปัตตานีด้านในของแหลม มีภูมิทัศน์สวยงาม ส่วนด้านในติดกับอ่าวเป็นที่ตั้งของชุมชนหลายแห่ง เช่น บ้านดาโต๊ะ บ้านตะโละสะมิแล บ้านบูดี ประชากรประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า เช่นปลาดุก ปลากะพง หอยแครง หอยแมลงภู่ ฯลฯ เป็นอาชีพเสริม
หากมีกำลังและเวลาไปชมอุทยานแห่งชาตินํ้าตกทรายขาว งามไม่แพ้ที่อื่นๆ มีจังหวะและโอกาสห้ามพลาดทีเดียว...
หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563