ตื๊อไม่เลิกท่าเรือชุมพร 4 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต. กลชัย สุวรรณบูรณ์ ส.ว.จังหวัดชุมพร ได้ร่วมคณะส.ว.ลงพื้นที่ติดตามปัญหาและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชุมพร และเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในฐานะคนชุมพรขอยืนยันว่า ต้องการที่จะให้โครงการท่าเรือนํ้าลึกนี้เกิดขึ้น เพราะจังหวัดชุมพรและประเทศชาติในพื้นที่ภาคใต้จะได้รับประโยชน์ ทั้งยังรองรับแผนการพัฒนา SEC
โครงการนี้หอการค้าจังหวัดชุมพรเสนอขอรับการสนับสนุน ในวาระการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดชุมพรเมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 งบประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อรองรับสินค้าในระดับภูมิภาคของภาคใต้ คือ ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของชาติโดยเฉพาะแผนการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน สู่การค้ากลุ่ม BIMTEC ต่อไป ซึ่งท่าเรือนํ้าลึกชุมพรถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวขับเคลื่อนต่อไปได้ และเต็มระบบ นอกจากนี้ท่าเรือนํ้าลึกชุมพรยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรองรับระเบียงเศรษฐกิจ EEC
เนื่องจากจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่อยู่ตรงกลางของการขนส่งสินค้าของภาคใต้ ไปยังท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง สามารถรับสินค้าจากแหล่งต่างๆ เช่น เกาะสอง บกเปี้ยน มะริด เป็นต้น เข้ามาแปรรูปที่ชุมพร และสามารถเป็นท่าเรือขนส่งและกระจายสินค้าแปรรูปเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร คือฝั่งตะวันตกผ่านท่าเรือระนองทางทะเลอันดามันไปอินเดีย เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ถึงยุโรป และฝั่งตะวันออกไปยังเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น
ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่บางสน คอกวาง และเขาพระตำหนัก ซึ่งมีการทำ Public scoping รวมกันทีเดียวทั้ง 3 พื้นที่ โดยพิจารณาจุดที่มีระดับความลึกของนํ้าทะเล ตั้งแต่ 10 เมตรเป็นต้นไป ไม่ต้องมีการขุดลอกตะกอนดิน ประกอบกับให้มีพื้นที่หลังท่าอย่างเพียงพอ และพิจารณาท่าเรือระนองประกอบด้วยเนื่องจากเป็นท่าเรือที่ใกล้ที่สุด
จุดที่มีการศึกษาและกำหนดว่าจะสร้างท่าเรือนํ้าลึกชุมพร คือที่บริเวณแหลมคอกวาง อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ในการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ด้านการขนส่งเชื่อมต่อ EEC และเชื่อมโยง 2 ทะเลอ่าวไทย-อันดามันได้ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดการค้า การลงทุนมหาศาลที่จะเข้ามาใน จ.ชุมพร รวมทั้งใกล้เคียง พร้อมทั้งสามารถรองรับการขยายตัวทางการท่องเที่ยวพร้อมกันไปด้วย
“การพัฒนาโครงการอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะแรก แต่ในอนาคตจะมีประโยชน์อย่างมากด้านการขนส่งวัตถุดิบและผลผลิตต่างๆ และจะช่วยแบ่งเบาภาระจากท่าเทียบเรือนํ้าลึกสงขลา แหลมฉบัง และ ฝั่งอันดามัน ท่าเทียบเรือนํ้าลึกภูเก็ต และเห็นสมควรอย่างมากที่จะดําเนินการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกในจ.ชุมพร เนื่องจากจะช่วยพัฒนา ความเจริญของท้องถิ่นและด้านเศรษฐกิจ การค้าขายและการจ้างงานในพื้นที่” พล.ต. กลชัยกล่าวยํ้า
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12 - 14 มีนาคม 2563