นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินพร้อมที่จะนำแนวนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาปฏิบัติในส่วนของการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ของ ธปท. วงเงิน 9 แสนล้านบาท รวมถึงการอัดฉีดสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน หรือซอฟท์โลน เพื่อดูแลภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท จะเป็นสินเชื่อใหม่ ดอกเบี้ย 2% สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่เอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี คงต้องขอดูรายละเอียด พ.ร.ก. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อว่าจะออกมาในลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้นำมาปฏิบัติ โดยในความคิดเห็นส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจว่าจะก่อให้เกิดผลดีค่อนข้างมากจากการดำเนินการดังกล่าว
"ต้องเรียนว่าตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19)ขึ้นมา จะเห็นว่าภาครัฐใช้เวลาในการทำงานอย่างรอบคอบ ขณะที่ตนเองก็มีโอกาสเข้าร่วมเสนอความคิดเห็นเข้าไปเป็นระยะ โดยจะเห็นว่าในภาคของการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ของผู้ประกอบการทางด้านภาษี และมาตรการทางการคลังได้ดำเนินการไปอย่างครบถ้วนออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในส่วนของการดูแลผู้ที่อาจจะไม่มีรายได้ช่วงนี้"
ทั้งนี้ การให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เรื่องแรกที่จะมีผลและเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยส่วนรวมก็คือเรื่องเงินสดได้มีการประสานงานกับทางราชการอย่างรอบครอบแล้ว เรื่องการขนส่งเงินสดไปยังคู้เอทีเอ็ม (ATM) ในกรณีที่มีการปิด หรือล็อกดาวน์ โดยเชื่อว่าจะสามารถมีเงินสดให้ประชาชนเบิกไปใช้งานได้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลแต่อย่างใด
ส่วนที่ 2 ต้องการแนะนำเรื่องระบบการชำระเงิน ซึ่งปัจจุบันมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์โดยใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเป็นระบบที่เชื่อถือได้ รวดเร็วและปลอดภัย เพราะฉะนั้นประชาชนจึงไม่ต้องมีความกังวลแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน