ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าว กรณีสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสพบว่ามีชายไทยอายุ 57 ปี เป็นผู้ป่วย COVID-19 รายที่ 22 ของจังหวัดนราธิวาส จากการสอบประวัติการเดินทางพบว่า เดินทางเข้าประเทศไทยที่สนามบิน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 แล้วเดินทางต่อโดยขบวนรถด่วนสปรินเตอร์ (กรุงเทพ – ยะลา) วันที่ 21 มีนาคม 2563 และเดินทางต่อโดยขบวนรถธรรมดาเที่ยวนครศรีธรรมราช – ตันหยงมัส นั้น
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ได้ทำการสอบถามข้อมูลกับสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบสวนการเดินทางที่ถูกต้องของผู้ป่วยได้ดังนี้
1. ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 57 ปี มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนราธิวาส
2. ผู้ป่วยเดินทางโดยขบวนรถเร็วที่ 171 (กรุงเทพ – สุไหงโก-ลก) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563
จากสถานีกรุงเทพ ปลายทางสถานียะลา เป็นรถนอนชั้นที่ 2 นอนปรับอากาศ คันที่ 16 ถึงสถานียะลา
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 แล้วเดินทางต่อโดยขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451 (นครศรีธรรมราช – สุไหงโกลก) วันเดียวกัน จากสถานียะลา – ตันหยงมัส
สำหรับการดำเนินการของการรถไฟฯ
1. ส่งรายชื่อผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางในขบวนรถเร็วที่ 171 (กรุงเทพ – สุไหงโกลก) ในวันดังกล่าวให้สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
2. เนื่องจากการโดยสารของผู้ป่วยกับขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451 (นครศรีธรรมราช – สุไหงโกลก) เป็นขบวนรถที่ไม่มีการสำรองที่ จึงไม่มีรายชื่อผู้โดยสารให้กับสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสเพื่อตรวจสอบ
3. สำหรับการทำความสะอาดตู้โดยสารดังกล่าวการรถไฟฯ ได้สั่งให้ทำความสะอาดและฆ่าเชื่อโรคตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ขบวนรถโดยสารในเส้นทางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การรถไฟฯ ได้งดการให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 ทั้งขบวนรถเร็วที่ 171 และขบวนรถโดยสารท้องถิ่นที่ 451
ทั้งนี้รฟท.จึงขอให้ประชาชนที่เดินทางร่วมในขบวนรถเร็วที่ 171 (กรุงเทพ – สุไหงโก-ลก) ในวันที่ 21 มีนาคม 2563 และขบวนรถท้องถิ่นที่ 451 ระหว่างสถานียะลา – ตันหยงมัส ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 เข้ารับการตรวจสอบตามขั้นตอนที่สาธารณสุขจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น การรถไฟฯ ได้มีการคัดกรองการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนใช้บริการที่สถานีรถไฟทุกครั้ง หากพบอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขอให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการเดินทาง หากจําเป็นต้องเดินทางขอให้มีใบรับรองแพทย์แสดง และกรอกแบบประเมินและรับรองตนเองเพื่อคัดกรองและยืนยันตนก่อนการเดินทาง และมาตรการ Social Distancing กับขบวนรถ เพื่อให้มีระยะห่างที่ปลอดภัยต่อการแพร่กระจายเชื้อในขบวนรถไฟ นอกจากนี้ ได้ข้อความร่วมมือในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ใช้บริการที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจําตัว และกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ควรงดการเดินทาง เว้นแต่บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีความจําเป็นตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563