เบื้องหลังเจ มาร์ท ดึงแบงก์เกาหลีปิดดีล JFintech

25 เม.ย. 2563 | 03:45 น.

กำเงินก้อนโต 3,000 ล้านต่อยอดธุรกิจ เผยเป็นประวัติศาสตร์รอบ 30 ปีหลังก่อตั้งธุรกิจ

แม้ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับวิกฤติ โควิด-19แต่ยังมีเรื่องราวดีๆ เมื่อนักลงทุนต่างประเทศเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย เกิดมีดีลก้อนโตมูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการร่วมทุนในบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (บริษัทย่อย) กับ KB Kookmin Card Co., Ltd. (KB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KB Financial Group Inc. ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้

การปิดดีลครั้งนี้เรียกได้ว่าสะเทือนธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะ KB เป็นแบงก์ยักษ์ใหญ่ในเกาหลี

ส่วนการปิดดีลครั้งนี้มีเบื้องหลังอย่างไรนั้นผู้ที่ให้คำตอบที่ดีที่สุด คือ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เหตุผลทำไมและเพราะอะไรถึงดึงสถาบันการเงินจากเกาหลีมาร่วมลงทุนได้ ติดตามอ่านจากบรรทัดถัดจากนี้

เบื้องหลังปิดดีล

อดิศักดิ์ เล่าว่า KB คือ ธนาคารในเกาหลีรายใหญ่ ใหญ่กว่าธนาคารในไทยถึง 4 เท่า มีฐานลูกค้าจำนวน 34 ล้านราย โดย KB ต้องการหาพันธมิตรในประเทศไทย ได้ประสานกับ EY เอินส์ทแอนด์ยัง (Ernst & Young ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น EY:เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชี 4 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก) เป็นตัวกลางประสานงานแนะนำให้ลงทุนกับ JFINTECH

“ทาง EY หาพาร์ตเนอร์มา 2 ปี ซึ่ง EY ไปขอคำแนะนำจากแบงก์กสิกรไทยหลังจากนั้นทั้ง KB และ JFINTECH ได้ศึกษาร่วมกันใช้เวลา 1 ปีครึ่งดีลจึงปิดลงและแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา”

ต้องการไทยเป็นฮับ

อดิศักดิ์ บอกต่ออีกว่า KB ต้องการประเทศไทยเป็นฮับ ในภูมิภาคนี้เนื่องจากได้ลงทุนใน กัมพูชา,ลาว,เวียดนาม,อินโดนีเซีย และเมียนมา เหลือประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายที่ต้องการให้เป็นศูนย์กลาง

ส่วนหลักการทางธุรกิจ ของ KB ต้องการเข้ามาควบคุม (take control) ด้วยการส่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เข้ามาบริหาร

“KB ศึกษามาหมดแล้วธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทยมีผู้ประกอบการกี่รายที่ให้บริการ เป้าหมายต้องการเข้ามาแข่งขัน”

เบื้องหลังเจ มาร์ท ดึงแบงก์เกาหลีปิดดีล JFintech

ลดทุนกำเงิน 3 พันล้าน

สำหรับเงินลงทุนก้อนแรกยังตอบไม่ได้ แต่โครงสร้างธุรกิจนั้น เจ มาร์ท ลดทุนใน JFINTECH เหลือ 45.09%

โดย JFINTECH เพิ่มทุนจดทะเบียนจากจำนวน 556,536,90900 บาท เป็น 1,112,851,210 บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 53,360,768 หุ้น และออกหุ้นบุริมสิทธิเพิ่มทุนจำนวน 2,270,663 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของตน (ทั้งหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ) ที่ราคาหุ้นละ 11.68 บาท ซึ่งบริษัทจะสละสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวตามสัดส่วนการถือหุ้นของตน (ทั้งหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ)

อย่างไรก็ตามการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัทย่อยจำนวน 48,112,168 หุ้น และหุ้นบุริมสิทธิเพิ่มทุนในบริษัทย่อยจำนวน 2,047,319 หุ้น รวมเป็นจำนวน 50,159,487 หุ้น ให้แก่ KB เพื่อให้ KB สามารถเข้าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดจำนวนรวม 55,631,431 หุ้น

หลังจากเพิ่มทุน บริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับร้อยละ 45.09 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทย่อย ซึ่งมีสิทธิออกเสียงเท่ากับร้อยละ 44.19 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อยและจะทำให้บริษัทย่อยไม่มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทอีกต่อไป

สำหรับมูลค่ารวมของผลตอบแทน คือการที่บริษัทสละสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทย่อยจำนวน 50,159,487หุ้น ซึ่งมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ซึ่งเสนอขายในราคาหุ้นละ 11.68 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 586.1 ล้านบาท และบริษัทจะได้รับเงินกู้ยืมคืนจากบริษัทย่อย ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันในสัญญา Master Term Agreement มูลค่ารวม ณ สิ้นปี 2562เท่ากับ 2,717.5 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,303.6 ล้านบาท

 

เงินที่ได้บริหารจัดการอย่างไร

ไปต่อยอดธุรกิจในกลุ่มเจ มาร์ท

การแข่งขันสินเชื่อ

น่าจะรุนแรงขึ้น KB เขาจะใช้เทคโนโลยีดิสรัปต์ห้องแถวที่ผู้ประกอบการสินเชื่อเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนโยบายไม่เปิดสาขาจำนวนมากแต่ใช้แอพพลิเคชันของ JFINTECH ทำธุรกรรมการเงินบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 

นอกจากนี้ KB จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง

2% เพราะมีจุดแข็งสามารถใช้เครดิตจากธนาคารเกาหลีมาค้ำประกัน 

ไม่เพียงเท่านี้ KB จะเป็นสปอนเซอร์ให้กับ BTS บอยแบนด์จากเกาหลีใต้  และยังเป็นพาร์ตเนอร์กับซัมซุงอีกด้วย ดังนั้น KB จะมาต่อยอดในสิ่งเหล่านี้ 

 

“สิ่งที่ KB เข้ามาลงทุนต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานในรูปแบบสังคมไร้เงินสด ดังนั้นกลุ่มธุรกิจของเจ มาร์ท ทั้งJMT(บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส จำกัด(มหาชน),ซิงเกอร์ และ เจเวนเจอร์ ได้ประโยชน์ในการทำตลาดร่วมกัน”

 

อดิศักดิ์ บอกต่ออีกว่า “ดีลนี้ เป็นดีลประวัติศาสตร์ในรอบ 30 ปีที่ เจมาร์ท ก่อตั้งธุรกิจขึ้นมา”

เบื้องหลังเจ มาร์ท ดึงแบงก์เกาหลีปิดดีล JFintech

ว่าด้วยเรื่อง KB

 

KB Kookmin Card เป็นบริษัทย่อยของ KB Financial Group Inc. ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ โดย KB ก่อตั้งเมื่อปี 2523 ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการชำระเงิน (payment) และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบัตรเครดิต ให้บริการด้านการชำระเงิน การเงิน การผ่อนชำระและการเช่าซื้อและบริการอื่น ๆ  โดย KB Kookmin Card ให้บริการในเกาหลีใต้ และเป็นบริษัทในกลุ่มกิจการ KB เครือเดียวกันกับ ธนาคารเคบี กุกมิน ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 1-4 ของประเทศเกาหลีใต้

 

ด้าน KB Financial Group ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KB เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำก่อตั้งขึ้นปี 2506 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) อยู่ที่ 9,966 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 15.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เรื่อง: ชุติมณฑน์ คำภา