กสทช.โดดอุ้ม ‘ค่ายมือถือ-ทีวี’ โควิดฉุดรายได้ร่วง

08 พ.ค. 2563 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2563 | 12:24 น.

กสทช. เผยโอเปอเรเตอร์ยังไม่ยื่นขอเยียวยา หลังพิษโควิดทำรายได้วูบ กระแสเงินสดลดฮวบ ส่อเค้ายืดชำระค่าคลื่น 900 มูลค่า 48,000 ล้านบาท ย้ำหากมีมาตรการต้องช่วยเหลือครอบคลุมทั้งวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม “หมอลี่” ระบุยืดชำระค่าคลื่นไม่สามารถทำได้

 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรณีที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่าย โอดรายได้เติมเงินลดลงกว่า 50% ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และขาดกระแสเงินสดเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจ อีกทั้งในช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย.
นี้ ทรูและเอไอเอสต้องชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท และดีแทคที่ต้องชำระค่าคลื่น 1.1 หมื่นล้านบาท  รวมถึงในปี 63 โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายมีกำหนดชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถ่ี่ 4 จี และ 5 จี ในเดือน ก.ค., ต.ค. และ ธ.ค. นั้นขณะนี้ยังไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดส่งเรื่องมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อเรียกร้องความช่วยเหลืิอ จึงยังไม่มีการกำหนด หรือมาตรการเยียวยาใดออกมา แต่หากมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยานั้นจำเป็นต้องครอบ คลุมในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงวิทยุและโทรทัศน์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะค่ายมือถือเท่านั้น

สำหรับเรื่องมาตรการนั้นถ้ามีออกมาก็ต้องช่วยเหลือในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงโอเปอเรเตอร์ แต่รวมไปถึง วิทยุโทรทัศน์ ซึ่งต้องออกมาเป็นมาตรการเดียวกันทั้งหมด แต่ตอนนี้ทางโอเปอร์เรเตอร์ยังไม่ได้มีการส่งเรื่องเข้ามาให้กับทางสำนักงาน กสทช.ซึ่งก็ยังไม่มีรายละเอียด จึงยังไม่ได้มีการดำเนินการหรือกำหนดแนวทางมาตรการช่วยเหลืออะไร อีกทั้งตอนนี้ กสทช.ยังโฟกัสในเรื่องของการให้สิทธิโทรฟรี 100 นาที ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19

อนึ่งช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายประสบปัญหาขาดกระแสเงินสด เนื่องจากลูกค้ารายเดือนผิดนัดชำระค่าบริการ และบางรายยืดการชำระค่าบริการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้ลดลง เช่นเดียวกับลูกค้าเติมเงิน หรือพรีเพด ที่มียอดการเติมเงินลดลง   

โดย  บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ปกติจะมียอดการเติมเงินเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 140 ล้านบาท ปัจจุบันลดเหลือ 50 ล้านบาท บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น ที่เดิมมียอดเติมเงินเฉลี่ยวันละ 90 ล้านบาท ปัจจุบันลดเหลือเพียง 30 ล้านบาท และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค มียอดเติมเงินต่อวันอยู่ที่ 20 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 5 ล้านบาท

ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือบอร์ด กสทช. กล่าวว่า สำหรับเรื่องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาโอเปอเรเตอร์นั้นในตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่บอกว่ารายได้ลดลงนั้นมาจากส่วนไหนบ้าง ทราฟฟิกเท่าเดิมหรือลดลงด้วย เพราะยังไม่รู้ว่าต้นทุนจริงๆ นั้นลดลงด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าต้นทุนลดแล้วรายได้ลดก็ตรงไปตรงมา แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่รายได้ลดลง อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา ซึ่งก็ต้องดูข้อมูลของผู้ประกอบการก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยในเรื่องของการยืดชำระค่าใบอนุญาตประมูลคลื่นนั้น ถ้าตามกฎหมายไม่สามารถทำได้เพราะประกาศการประมูลนั้นเป็นประกาศที่ออกไปแล้วและแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลมีช่องทางกฎหมายพิเศษก็ต้องมาดูอีกที ซึ่งตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะมีแตกต่างจากเมื่อก่อนที่มี มาตรา 44 เพราะฉะนั้นโดยหลักปกติถ้าสัญญาสัมปทานหรือสัญญาร่วมงานจะเหมือนกันหมดคือถ้าประกาศไปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าดูเหตุสุดวิสัยก็ต้องดูว่าสาเหตุที่จะไม่จ่ายมีเหตุสุดวิสัยอย่างไรบ้าง 

หน้า 1  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563