โควิดพ่นพิษค่ายมือถือรายได้ลด-หนีไม่พ้นยืดหนี้คลื่น 900

11 พ.ค. 2563 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2563 | 11:39 น.

จับตา “กสทช. เปิดโต๊ะค่ายมือถือเจรจายืดหนี้คลื่น 900 หลังรายได้ กำไรลด ลูกค้าหาย โดนโควิดพ่นพิษ

วันที่ 11 พ.ค. แม้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาตรการเยียวยาการแพร่ระบาดโควิด-19  แจกฟรีเน็ตบ้าน 100 MB,เน็ตมือถือ 10 GB และ โทรฟรี 100 นาที

 

ใครๆ คงคิดว่างานนี้ 3 ค่ายมือถือ คือ เอไอเอส , ทรู และ ดีแทค คงได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

แต่ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเมื่อผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2562 ทั้ง เอไอเอส และ ดีแทค แม้จะมีกำไรแต่เป็นกำไรที่ลดลง

เมื่อพลิกดูผลประกอบการของ เอไอเอส  กำไรสุทธิ 7,004 ล้านบาท  แต่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับมีรายได้ลดลง -1.1% ส่วน ดีแทค กำไรสุทธิ 1,500 ล้านบาท(ดูตารางประกอบ)

 

 ดีแทค ลูกค้าลดล้านราย

หันมาดูจำนวนผู้ใช้บริการ ไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 41.1 ล้านราย เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 41.49 ล้านราย 

ขณะที่ ดีแทค มีจำนวนผู้ใช้บริการไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 19.6 ล้านราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 20.72 ล้านราย

ส่วนกลุ่มทรู ยังไม่แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีจำนวนลูกค้า ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 30.6 ล้านราย กำไรสุทธิ 5,636 ล้านบาท

 

โควิดทำพิษรายได้ลด

ผลประกอบการที่ เอไอเอส และ ดีแทค ทั้งรายได้ กำไร และจำนวนลูกค้าที่ปรับตัวลดลง ทั้ง 2 ค่ายชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปในทิศทางเดียวกันว่าเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ออกมาชี้แจงว่า เป็นผลจากการแข่งขันของอุตสาหกรรม ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวลดลง

 

รวมถึงยังได้รับผลจากมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้ต้องปิดให้บริการชั่วคราวที่ AIS Shop, Serenade Club และ AIS Telewiz

 

นายชารัด เมห์โทรา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ระบุผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่ารายได้ลดลงชัดเจนจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ผู้ใช้บริการใหม่ และบริการโรมมิ่งต่างประเทศ ขณะที่การที่ลูกค้าต้องอยู่บ้าน ทำให้การใช้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

 

โควิดพ่นพิษค่ายมือถือรายได้ลด-หนีไม่พ้นยืดหนี้คลื่น 900

 

จ่อยืดหนี้คลื่น 900

ทั้งรายได้, กำไรสุทธิ และจำนวนลูกค้าที่ลดลง โดยเฉพาะไตรมาส 2 เชื่อได้เลยว่าลูกค้าจะทิ้งเบอร์อีกเป็นจำนวนมาก เพราะพิษโควิด-19

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีกระแสข่าวว่า โอเปอเรเตอร์มือถือ  ได้ขอผ่อนผันการจ่ายค่าใบอนุญาต 4G และ 5G มายังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เนื่องจากปัญหาขาดกระแสเงินสดอย่างหนัก  เพราะรายได้จากลูกค้าเติมเงินลดลง  และผู้ใช้รายเดือนขอยืดการชำระค่าบริการรายเดือน อันเนื่องมาจากรายได้ลดลง ตกงานจากวิกฤติโควิด-19 

  

ทั้งนี้กลุ่มทรู มีกำหนดจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900  ในเดือนพฤษภาคม 2563 นี้ 24,000 ล้านบาท   และ เอไอเอส มีกำหนดจ่ายค่าคลื่น 900 ที่ 24,000 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2563

 

“มีเสียงบ่นจากโอเปอเรเตอร์ออกมาว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทำรายได้สูงก็จริงแต่ก็มีรายจ่าย และการลงทุนอยู่ตลอด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมาขอให้ช่วยประมูล 5G เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ทุกคนก็พร้อมให้ความสนับสนุน แต่ในขั้นตอนการจ่ายเงินไม่เคยได้รับการผ่อนปรนไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร”

 

ไม่เพียงเท่านี้นักวิเคราะห์ได้ประมาณการว่าผลประกอบการไตรมาส2/2563 ลูกค้าจะหดตัวจากกำลังซื้อที่อ่อนแอในต่างจังหวัด และการต้องแบกภาระต้นทุนให้กับประชาชนตามนโยบายรัฐให้ช่วยเหลือการแพร่ระบาดโควิด-19

 

สุดท้ายเชื่อว่าการขอยืดชำระค่าคลื่น 900 MHz น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะมีการแบ่งจ่ายออกเป็น 3 งวด ด้วยเหตุผลที่ว่าสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน กำลังซื้อลดวูบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ ดีแทค ที่ลูกค้าลดลงถึง 1 ล้านราย

คอลัมน์ Move On

โดย:คนท้ายซอย