การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ประกอบด้วย 1.การลด ค่าบำรุงรักษา ที่ กนอ.เรียกเก็บกับผู้ใช้ที่ดินทุกรายในอัตรา 10% เป็นระยะเวลา 4 เดือน (มิ.ย.-ก.ย. 2563) ,2.ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการอนุญาตการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 11 รายการ เป็นระยะเวลา 4 เดือน (มิ.ย.-ก.ย. 2563)
,3.การยกเว้นหรือลดหย่อน ค่าเช่าที่ดิน และอาคาร แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้เช่าที่ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน ยกเว้นค่าเช่า ระยะเวลา 3 เดือน และกรณีผู้เช่าที่ชำระค่าเช่าเป็นรายปี ลดหย่อนค่าเช่าอัตรา 25% ของค่าเช่าปี 2563 เป็นระยะเวลา 3 เดือน(เม.ย.-มิ.ย. 2563)
นอกจากนี้ ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยการลดหย่อนค่ากำกับบริการ อัตรา 10% ของค่ากำกับบริการปี 2563 และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การขยายระยะเวลาการชำระค่าบริการและค่าธรรมเนียมที่ กนอ.เรียกเก็บจากเดิมที่ต้องชำระภายใน 20 วัน นับจากวันได้รับใบแจ้งหนี้ เป็น 60 วัน นับจากวันได้รับใบแจ้งหนี้
ขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ได้จนถึงเดือนกันยายน 2563 และสามารถแบ่งชำระได้โดยจะต้องชำระให้ครบถ้วนภายในเดือนกันยายน 2563 โดยไม่มีดอกเบี้ย ขณะที่ผู้เช่าที่ดินหรือทรัพย์สิน กนอ. สามารถขอคืนหลักประกันสัญญาเช่าที่ดินส่วนที่เป็นเงินสด โดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศในมูลค่าที่เท่ากันมาวางแทน
ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องที่มีระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปี และปรับลดอัตราเงินเพิ่มพิเศษเนื่องจากการชำระล่าช้ากว่ากำหนด จากอัตรา 15 – 18% เป็นอัตรา 6% ต่อปี
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ กนอ.เป็นประธานการประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส "โควิด-19"(COVID-19)ที่ กนอ.นำเสนอ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาลงทุนหรือขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
“มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและผู้ร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น คณะกรรมการ กนอ.ได้ให้ความเห็นชอบเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงานให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบต่อการประกอบกิจการ”
มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการลงทุนและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาลงทุนหรือขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหลังสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จบลง ซึ่ง กนอ.ได้เตรียมออกโปรโมชั่นใหม่และข้อเสนอพิเศษให้กับนักลงทุนมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต