นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าการย้ายฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าของ บริษัท พานาโซนิค ไปยังประเทศเวียดนา เป็นการปรับแผนทางธุรกิจของพานาโซนิคที่วางไว้เดิมอยู่แล้ว เพื่อเป็นการรวมสายการผลิตไว้ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเป็น ฐานการผลิต หลักของตู้เย็น และเครื่องซักผ้าของกลุ่มบริษัท พานาโซนิคในอาเซียน โดยที่ยังมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยอีก 18 โรงงาน ใช้แรงงานกว่า 10,000 คน โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ๆ เช่น เครื่องเสียง โทรทัศน์ แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดยังคงเดินสายการผลิตที่ประเทศไทย
นายสุริยะ เปิดเผยว่า การย้ายฐานการผลิตดังกล่าวของ บริษัท พานาโซนิค เป็นการดำเนินการเพื่อให้ขนาดการลงทุนมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น (Economy of scale) ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบและมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยเป็นการปรับแผนทางธุรกิจของพานาโซนิคที่วางไว้เดิมอยู่แล้ว
“กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประสานงาน และสอบถามข้อมูลกับ บริษัท พานาโซนิค พบว่า ทางบริษัทมีการปิดฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เพื่อไปรวมสายการผลิตฐานหลักที่ประเทศเวียดนาม โดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 800 คน ซึ่งถือว่าเป็นการย้ายฐานไปส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางบริษัทได้นำเข้าชิ้นส่วนของเครื่องซักผ้าและตู้เย็นชิ้นส่วนมาจากเวียดนามเป็นหลักเพื่อนำมาประกอบในประเทศไทยอยู่แล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทตัดสินใจย้ายสายงานดังกล่าวไปเวียดนาม"
ส่วนกรณีของข่าวบริษัทเครื่องปรับอากาศไดกิ้น (Daikin) ที่มีข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าเป็นการขยายกำลังการผลิตที่ประเทศเวียดนาม และขยายการผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดย บริษัท Daikin ได้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งการผลิตเครื่องปรับอากาศ และคอมเพรสเซอร์ โดยภาพรวมคือ โมเดลเครื่องปรับอากาศ ส่วนที่ย้ายฐานไปยังประเทศเวียดนามเป็นโมเดลทั่วๆไป ส่วนฐานการผลิตที่ประเทศไทยจะผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้เทคโนโลยีที่ขั้นสูง ซึ่งตรงกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นส่งเสริมการลงทุนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตฯ เร่งดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพ ธุรกิจอิสระ ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานลดลง ด้วยการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน ใน 4 มิติ คือ 1.มิติผู้ประกอบการ SMEs โดยการปรับธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความปกติวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล เช่น การปรับการตลาดรูปแบบใหม่ การเพิ่มผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม 2.มิติชุมชนและวิสาหกิจชุมชน โดยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากการบ่มเพาะนักพัฒนาชุมชน ผ่านการสร้างและยกระดับการค้า การผลิต และบริการ เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น
3.มิติเกษตร โดยการพัฒนาจากเกษตรเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านกลไกการสร้างนักธุรกิจเกษตร การใช้ระบบเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเพื่อทำเกษตรสมัยใหม่ (Farming 4.0) และสุดท้ายมิติที่ 4.มิติประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยการสร้างอาชีพอิสระทั้งในแง่ของการสร้าง และการนำทักษะของแต่ละคนมาประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงการเริ่มธุรกิจค้าขายและบริการตามที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้
แต่ละมิติจะมีการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้มีเงินทุนเริ่มทำธุรกิจได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนงบประมาณจำนวน 35% จากงบประมาณคงเหลือของปี 63 นำมาช่วยเหลือและฟื้นฟูใน 4 มิติข้างต้นแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานลดลง จะถูกช่วยเหลือให้มีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพกว่า 6,000 คน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และขยายผลครอบคลุมให้ทั่วประเทศ จึงได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมการฟื้นฟูทั้ง 4 มิติ ในระยะต่อไป โดยจะเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าจะสามารถช่วยประชาชนได้กว่า 1.25 ล้านคน ตามแนวทางข้างต้นนี้ต่อไป โดยใช้งบประมาณราว 1 หมื่นล้านบาท ภายใต้ พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท