แนวคิดที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลสังคม โดยเฉพาะการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย คือแนวทางปฏิบัติของแลคตาซอย ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ และยังต่อยอดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลักดันให้คนในสังคมอยู่รอด ไปพร้อมๆ กับธุรกิจของแลคตาซอย
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 “มัลลิกา จิรพัฒนกุล” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายขาย บริษัท แลคตาซอย จำกัด เล่าว่า แลคตาซอย เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เห็นความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากการส่งต่อน้ำใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังสนับสนุนชุมชนหมู่บ้านผ้าย้อมคราม จ.อุดรธานี ให้มีอาชีพและสร้างรายได้ จากการทำเสื้อมัดย้อมคราม เพื่อนำมาจัดเป็นสเปเชียลเซ็ท “แลคตาซอยรักษ์ไทย” จำหน่ายในช่องทางออนไลน์
โครงการนี้ เป็นการร่วมมือกับ “อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม” ชุมชนหมู่บ้านผ้าย้อมคราม ซึ่ง “พสธร เดชศิริอุดม” หัวหน้ากลุ่ม เล่าว่า ได้นำเสื้อย้อมครามต้นแบบเข้าไปนำเสนอกับแลคตาซอย และได้รับการตอบรับ ให้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของสเปเชียลเซ็ทแลคตาซอยรักษ์ไทย ทำให้ในกลุ่มมีรายได้เข้ามาหลังจากที่เผชิญวิกฤตินานกว่า 2 เดือน
ในกลุ่มเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกชุมชนกว่า 20 คน ทำเสื้อย้อมครามขาย โดยเน้นการออกบูธขายสินค้า แต่เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้งานออกบูธถูกยกเลิกไม่สามารถขายสินค้าได้
เสื้อย้อมครามที่ทางกลุ่ม “อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม” ทำนั้น ย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ ผ่านกรรมวิธีการย้อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครามที่นำมาย้อมผ้านั้น เกิดจากต้นครามที่ขึ้นอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งในกระบวนการย้อม จะต้องมีความรู้และเข้าใจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น การหมักคราม ส่วนผสม ระยะเวลา อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณส่วนผสมจากสมุนไพรที่เกี่ยวข้อง และทักษะความเชี่ยวชาญในการทำ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบต่อกันมา
สำหรับสเปเชียลเซ็ท “แลคตาซอยรักษ์ไทย” ประกอบไปด้วยนมถั่วเหลืองแลคตาซอย 9 กล่อง พร้อมเสื้อผ้าย้อมคราม ฟรีไซส์ 1 ตัว
โครงการความช่วยเหลือสังคมของแลคตาซอย ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ทำต่อเนื่อง อาทิ โครงการสนับสนุนทุนการศึกษา, แคมเปญ หนึ่งไลค์ พี่ให้…น้องได้ 5 บาท, แลคตาซอย แชริตี้ และ แลคตาซอย ให้ชีวิต…จิตเป็นสุข เป็นต้น
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563