สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศได้ขอให้กระทรวงการคลังหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งทางบก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยได้ยืนข้อเสนอขอลดอัตรา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากที่จัดเก็บ 1% เหลือ 0.5% เป็นเวลา 2 ปี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)เพื่อหามาตรการดูแลทั้งระยะสั้นและมาตรการฟื้นฟู เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่ในระบบกว่า 5-6 ล้านคน จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคขนส่งทางบก 300,000 ราย
สำหรับมาตรการระยะสั้น กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนด้านการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันไปเพียง 70,000 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงมาตรการสินเชื่อของธนาคารออมสินด้วย
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง จะเร่งสรุปเงื่อน และหลักเกณฑ์กองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบาง ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า
ส่วนการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูกิจการ จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัวของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแหล่งเงิน และวงเงินที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ภาครัฐยังจะสนับสนุนการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม สำหรับธุรกิจภาคขนส่งทางบก ในการรวบรวมข้อมูลการขนส่งสินค้าทั้งระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยกล่าวว่าสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถบรรทุกที่หยุดกิจการแล้ว 40% ของจำนวนผู้ประกอบการ 300,000 ราย ขณะที่ผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่ไม่รวม ขสมก. และ บขส. ได้รับผลกระทบแล้ว 60-70% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 40,000 ราย ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาให้การช่วยเหลือ
สำหรับข้อเสนอในวันนี้ สหพันธ์ต้องการให้กระทรวงการคลัง ปรับลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากปัจจุบันจัดเก็บที่ 1% เหลือ 0.5% เป็นระยะเวลา 2 ปี ต้องการให้กระทรวงการคลัง สนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูกิจการ ภายหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทั้งหมด นายอุตตม ระบุว่า จะนำไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
“หากภายใน 1-2 เดือน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดจากรัฐบาล อาจจะต้องทยอยเลิกจ้างงาน ทั้งขนขับรถ เด็กส่งของมากกว่า 1 แสนคน หรือไม่ต่ำกว่า 20% จากแรงงานทั้งหมด 1.4 ล้านคน และจากนั้นทยอยปิดกิจการ”