นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ “กกร” ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีข้อสรุปในเรื่องข้อตกลงที่ครอบคุลมและความก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ "CPTPP" โดยเห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจาจะทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนค่อนข้างมาก และใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่การขอเข้าร่วมเจรจากับภาคึ ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่มีผลบังคับใช้แล้วประมาณ 7 ประเทศ และรอการผ่านขั้นตอนตามกฎหมายอีก 4 ประเทศ
เพราะฉะนั้น ขั้นตอนต่าง ๆ หลังจากนั้นก็ต้องนำมาเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วก็มีการรับประชาพิจารณ์ และสุดท้ายกว่าจะมีผลผูกพันได้ ก็จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้ คาดว่าหากดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี เพราะฉะนั้น หากไม่เริ่มวันนี้ ไทยก็จะไม่สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศได้
อย่างไรก็ตาม หากในวันข้างหน้าพบว่ามีประเด็นปัญหาที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่จะได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าสิ่งที่จะเสียไป การถอนตัวในระยะข้างหน้าก็สามารถทำได้ เหมือนกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถอนตัวในปี 2560 โดยเวลานี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าประโยชน์ หรือโทษที่มีวันนี้คืออะไร เพราะฉะนั้น กกร.จึงเห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์กับไทย เพื่อให้ไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน
“การเจรจาเรื่อง CPTPP เข้าใจว่ามีอยู่ประมาณ 3-4 หัวข้อ ปัจจุบันเท่าที่ประเมินว่าข้อใดไทยได้ประโยชน์ ข้อใดไทยเสียประโยชน์นั้น มองว่ายังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะกระบวนในการเข้าไปเจรจายังไม่ถึงจุดที่ว่าจะสรุปอย่างไร ส่วนใดได้ประโยชน์ ส่วนใดเสียประโยชน์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดปีไหน เมื่อจบแล้วจึงจะนำมาสู่การพิจารณาของ ครม. และการทำประชาพิจารณ์ ถึงจะไปสู่ขั้นตอนของรัฐสภา โดยสหรัฐฯเองเข้าร่วมอยู่ประมาณ 3-4 ปี แล้วมีการถอนตัว ด้วยความรู้สึกว่าเสียเปรียบก็ยังสามารถทำได้”
อย่างไรก็ดี หากถามว่าไทยจะไม่เข้าร่วม CPTPP ได้หรือไม่ ก็คงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศคืออะไร หากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าโดยธรรมชาติ หากประเทสเหล่านั้นเข้าร่วมไปแล้ว นั่นหมายความว่าไทยจะไม่สามารถเข้าไปค้าขายในกลุ่มดังกล่าวนั้นได้อย่างสะดวกสบาย หรือได้รับสิทธิ์พิเศษเหมือนประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ซึ่งก็จะเป็นความเสียหายอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นตัวเลขมากน้อยเพียงใด
“ยกตัวอย่างทาง EU ซึ่งจะมีข้อตกลงเหล่านี้ โดยที่ในเบื้องต้นข้อตกลงบางส่วนจะมีความคล้ายคลึงกัน หากเราบอกว่าเราไม่ไปทำเลย เราก็จะไปตกลวกับใครไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องค้าของอยู่คนเดียว โดยเวลานี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องไปบอกว่าไม่ร่วม หรือร่วม ซึ่งคงต้องให้เวลาเพื่อให้ทุกอย่างชัดเจน โดยเท่าที่ทราบข้อมูลที่มีการประเมินตัวเลขในปัจจุบันก็ค่อนข้างที่จะเก่า ซึ่งอาจจะทำให้การคาดการณ์ไปในระยะข้างหน้าอาจจะไม่แม่นยำ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเหตุในหลายๆข้อที่เหตุใด กกร. ถึงประเมินว่าจุดเริ่มต้นของการเข้าไปร่วมเจรจาควรจะเกิดขึ้น หากไม่ร่วมปีนี้รออีก 1 ปี ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกก็จะมีสมัครเข้าไป เราก็ยิ่งช้า และความยากลำบากในการทำงานก็จะมีมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่านี่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคี เพราะท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องรอเวลาจนทุกอย่างชัดเจน หลังจากนั้นจึงค่อนมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง โดยการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อดีที่ภาครัฐเองพยายามฟังความเห็นของทุกภาคส่วน โดยกระบวนการในลำดับถัดไปคาดว่าจะมีการประชุมในเดือนสิงหาคม เพราะฉะนั้นภาครัฐก็น่าจะตัดสินให้ทันก่อนที่ภาคีจะมีการประชุม และแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หากไม่เข้าร่วมก็ถือว่าสิ้นสุด
“รายละเอียดเรื่องสัญญาต่างๆคงจะต้องมาหารือกัน และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุด เพราะเรื่องดังกล่าวนี้ค่อนข้างครอบคลุมหลายภาคส่วน ซึ่งจะทำให้ได้รับปลกระทบทางบวกและลบที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนให้ชัดเจน แต่อย่างเพิ่งไปกังวลล่วงหน้า เพราะ กกร. เองก้ยังไม่ทราบว่าผลที่จะออกมานั้นเป็นอย่างไร แม้กระทั่งการเข้าไปเจรจาก็อาจจะยังไม่สามารถตอบได้ แต่หากไม่เข้าไปเลยก็จะไม่รู้อะไรเลย โดยสิ่งที่น่าห่วงคือหากประเทศอื่นจับมือกันค้าขายแล้วไทยไม่เข้าร่วมกลุ่ม ซัพพลายเชนหรือผู้ที่มาลงทุนในไทย เห็นว่าประเทศอื่นมีผลประโยชน์ทางการลงทุนที่มากกว่าก้อาจจะย้ายฐานการลงทุนได้ ซึ่งจะเป็นความเสียหายอีกด้านหนึ่ง”
ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่า กกร. จะรู้สึกว่าส่วนที่เสียอย่างที่เป็นห่วงเรื่องของพรรณพืช ก็จะต้องประมวลรวมมาทั้งหมด แต่วันนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนในมุมแบบนั้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า แม้ไทยจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP แต่เมื่อถึงเวลาก็ยังจะต้องเข้าสู่กลไกอีกหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ การนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาหลายปี อีกทั้งทุกขั้นตอนก็สามารถระงับได้ หากเห็นว่าไทยจะเสียประโยชน์มากกว่าได้
สำหรับ กกร. เองได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นประธาน และมีการประชุมโดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้ามารวบรวมข้อมูลแล้ว 1 รอบ หลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนแบบตกผลึกว่าอะไรที่รัฐบาลควรจะต้องให้ความสำคัญในการเข้าไปเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ได้ ส่วนเรื่องของการลงทุนเวลานี้ไม่ใช่แค่เพียงแค่การซื้อขาย แต่เป็นเรื่องของการลงทุน เดิมทีในอดีตทุกคนจะพูดถึงเรื่องห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) ประเทศใดน่าสนใจก็ไปลงทุนที่นั่น
แต่หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป จะกลายเป็นห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Local Supply Chain) เป็นหลัก เพราะฉะนั้นโอกาสของการปรับย้ายการลงทุนจะมีเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในอนาคต เพราะนักลงทุนจะพยายามรวมจุดในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด จะไม่กระจายไปหลายจุด ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีของโลก
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า CPTPP เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทั้ง 3 องค์กรเห็นด้วยที่รัฐบาลควรจะเข้าไปร่วมเจรจา เพื่อให้รู้เขารู้เราว่าเป็นอย่างไร โดยอีกไม่นานจะมีการจัดสัมมนา เพื่อนำข้อมูลที่แท้จริงมาชี้แจงให้ได้ทราบว่า CPTPP คืออะไร และประชาชนเองก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วยว่ามีความเป็นห่วงด้านไหน อย่างไรเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับรัฐบาล
“การสัมมนาจะช่วยในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลในส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลเวลาไปเจรจาต่อรอง ซึ่งจะเป็นข้อสังเกตไป โดยหากเห็นว่าไทยจะเสียประโยชน์ ทั้ง 3 องค์กรจะออกมาคัดค้านอย่างแน่นอน”