วันนี้ (16 มิ.ย.63) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. (CAAT) ได้เชิญสายการบินสัญชาติไทยและผู้ดำเนินการสนามบิน ประชุมเพื่อหารือทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อม หากจะกลับมาเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กพท. ได้ประมวลแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ใช้บังคับกับสนามบิน อากาศยานคนประจำอากาศยาน และได้จัดทำร่างประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้เชิญสายการบินและสนามบินมาเพื่อร่วมหารือและหาข้อสรุปร่วมกัน
ประเด็นที่หารือประกอบไปด้วย มาตรการตั้งแต่การคัดกรองโรคก่อนออกประเทศ ทั้งประเทศต้นทางอื่น ๆ และประเทศไทย / Check-in / Boarding / การปฏิบัติตัวทั้งของผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบิน/และมาตรการเมื่อถึงสนามบินปลายทางทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้
1. สายการบินจะสามารถจำหน่ายบัตรโดยสารได้เต็มตามจำนวนที่นั่งทั้งหมดได้ โดยไม่ต้องเว้นที่นั่งเนื่องจากระบบอากาศหมุนเวียนในเครื่องบินได้มีการรับรองแล้วว่ามีมาตรฐาน แต่ผู้โดยสารยังต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากปิดปากและจมูก (Face Covering) ส่วนลูกเรือจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
2. ด้านการให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ระยะเวลาของเที่ยวบินต้องเกิน 2 ชั่วโมงจึงจะอนุญาตให้มีบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ และต้องมีมาตรการลดการสัมผัสระหว่างลูกเรือกับผู้โดยสารมากที่สุด เช่น การบรรจุอาหารและเครื่องดื่มในภาชนะที่ปิดมิดชิด
3. การจัดที่นั่งพิเศษ 3 แถวหลัง เพื่อแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบิน จะมีการพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ที่จะให้บริการ และระยะเวลาในการบิน
กพท.จะนำข้อเสนอแนะจากการหารือที่ได้จากสายการบินและสนามบินในวันนี้ ไปพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศ ฯ และนำไปหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. ต่อไป
สำหรับกลุ่มผู้โดยสารกลุ่มแรกที่อาจจะได้รับการผ่อนคลายให้สามารถโดยสารอากาศยานในเส้นทางระหว่างประเทศ น่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปดูแลธุรกิจของตัวเองที่ได้มีการลงทุนไว้ในต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยที่กลุ่มนักธุรกิจน่าจะมีความพร้อมในกรณีที่อาจจะต้องเจอมาตรการกักตัวในประเทศปลายทาง หรือการรักษาพยาบาลต่างๆ ก็จะเป็นกลุ่มผู้โดยสารที่สามารถมีกำลัง รองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้
ส่วนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่หวังจะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวในแบบ Travel Bubble นั้นจะพิจารณาในระยะต่อไป โดยยังไม่น่าจะทันในเดือนกรกฎาคมนี้ รวมทั้งประเด็นว่าสายการบินจะกลับมาทำการบินในเส้นทางบินใดบ้าง ที่มีผู้โดยสารเพียงพอคุ้มกับต้นทุนในการประกอบการในอนาคตอันใกล้
การพิจารณาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ หลังจากครบกำหนดห้ามทำการบินมายังประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) จะเป็นผู้พิจารณา
พร้อมทั้งมาตรการที่จะให้มีการเดินทางเข้าออกอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลโดยตรงว่าจะมีปริมาณการเดินทางแค่ไหน สายการบินจึงจะประมาณการขายตั๋วว่าจะคุ้มกับการเปิดบินหรือไม่
ทั้งนี้ แม้มาตรการจะชัดเจนและนิ่ง แต่ต้องดูการตอบรับจากผู้โดยสารด้วยว่าจะเดินทางหรือไม่ ขณะที่การเปิดบินของสายการบิน จะต้องมีความคุ้มทุนซึ่ง ล่าสุด ทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ได้ทำการสำรวจสายการบิน 122 สาย จะต้องมีผู้โดยสารในอัตราส่วนบรรทุก (Load Factor) เฉลี่ย 77% ของจำนวนที่นั่ง สายการบินจึงจะคุ้มทุนในการเปิดบิน
ดังนั้นหาก กำหนดขายตั๋วเว้นระยะห่าง Load Factor แค่ 70% สายการบินก็ยังขาดทุน
อย่างไรก็ตาม สายการบินยังมีความกังวลการให้บริการการบินระหว่างทั้งการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสาธารณสุข และ คำสั่ง ศบค.ในการห้ามเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนด้านการบิน หรือไม่
ในปี 2563 กพท.ประเมินว่า จำนวนผู้โดยสาร จะลดลงจากปี 2562 (ที่มีประมาณ 165 ล้านคน) ถึง กว่า 70% และคาดว่า จะเริ่มมีการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงเดือนก.ย. ในแบบทยอยเปิดบิน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารจะยังไม่มากนัก