‘อดิศักดิ์’ไล่ดิสรัปต์คู่แข่ง เจมาร์ท หมดยุคขาดทุน

25 มิ.ย. 2563 | 01:52 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2563 | 08:57 น.

“เจมาร์ท”หมดยุคขาดทุน“อดิศักดิ์” ลั่นเดินหน้าดิสรัปต์คู่แข่ง หลัง เคบี เกาหลีร่วมทุนเจฟินเทค

 

แม้โควิด-19 จะหยุดโลก แต่โควิดไม่สามารถ หยุดการขยายธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ทได้ เพราะเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาเกิดดีลสำคัญระหว่าง บริษัท เจฟินเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ผู้ถือหุ้นใหม่ คือ KB Kookmin Card Co., Ltd. (KB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KB Financial Group Inc. เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 49.99% คิดเป็นเงินราว 3,000 ล้านบาท

ทิศทางของ “เจมาร์ทฯ” ถัดจากนี้จะเป็นอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” มีคำตอบเป็นคำตอบของนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ติดตามอ่านได้บรรทัดถัดจากนี้

 

มุ่งสู่ธุรกิจการเงิน

“อดิศักดิ์” บอกว่า โครงสร้างบริษัทเริ่มทรานส์ฟอร์มธุรกิจมุ่งสู่ด้านการเงิน ทำไม เจมาร์ทฯ ต้องปรับตัวไปยังธุรกิจการเงิน เจมาร์ทฯเติบโตจากธุรกิจมือถือ ถัดจาก นั้นลงทุนในบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส จำกัด (JMT) ดำเนินธุรกิจติดตามหนี้ปัจจุบันแข็งแรงขึ้นทุกวันนอกจากติดตามหนี้สินเก็บเงินได้และปล่อยสินเชื่อได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วจึงเข้าไปซื้อธุรกิจในบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)

เหตุผลที่ทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจการเงินมีสถาบันการเงินไหนที่ไม่รวยบ้าง การจัดสรรเงินน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่สำคัญ กลุ่มธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย เจมาร์ท, เจฟินเทค, ซิงเกอร์ มีเครือข่ายครอบคลุมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ดังนั้นเครือข่ายน่าจะสมบูรณ์มากที่สุด

ไม่เพียงเท่านี้กลุ่มธุรกิจเชื่อในเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชน ได้พัฒนาแพลต ฟอร์มการประชุมและการลงทะเบียนสำหรับผู้ถือหุ้นโดยใช้ระบบ e-KYC (การยืนยันตัวตนด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์) เป้าหมายของบริษัทต้องการนำบล็อกเชนมาใช้เป็นรายแรกของประเทศ (Blockchain AGM Voting) โดยบริษัทย่อยคือ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด เป็นผู้พัฒนา และเป็นต้นแบบในการจัดประชุมและการโหวตผ่านออนไลน์ให้มีมาตรฐาน และการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 26 มิถุนายน 2563 จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประชุมผู้ถือหุ้นซิงเกอร์ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เข้ามาดูระบบบล็อกเชนอีกด้วย

 

 

หมดยุคขาดทุน

“ผมกล้ายืนยันว่าเราทำธุรกิจในบางครั้งเราก็เจ็บตัว เราก็ต้องบอกว่าแพ้ เราไม่เคยท้อเดินต่อไปข้างหน้า เพราะแพ้ คือ ชนะ นี่คือบุคลิกของเรา กลุ่มเจมาร์ททำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2540 ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุน มีเพียงปี 2561 ที่ขาดทุน 277 ล้านบาทเป็นปีแรก การขาดทุนครั้งนั้นเหมือนสปริงบอร์ดที่เราต้องกระโดด ยิ่งย่อตํ่ายิ่งกระโดดสูง นี่คือภาพรวมธุรกิจของบริษัท หลังจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทไม่ขาดทุนอีกเลย”

‘อดิศักดิ์’ไล่ดิสรัปต์คู่แข่ง เจมาร์ท หมดยุคขาดทุน

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา

 

นายอดิศักดิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า นับจากนี้ไปกลุ่มธุรกิจ กำไรเป็นพันล้านบาท ปีที่แล้วกำไรสูงสุดตั้งแต่ลงทุนทำ ธุรกิจและกำไรจะสูงเพิ่มขึ้นจากนี้ไปจะไม่มีตํ่าให้เห็นอีกแล้ว เพราะปัจจุบันมีโครงสร้างธุรกิจที่เข้มแข็งได้ขยายธุรกิจออกไปจากเดิมที่ในอดีตเจมาร์ท มือถือมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเหมือนบ่อนํ้าได้ถูกสูบไปใช้เยอะแล้ว ปัจจุบันได้ลงทุนธุรกิจเพิ่มได้แก่ เจเอ็มที และซิงเกอร์ เป็นบ่อนํ้ามันที่เติบโตและเข้มแข็ง และที่สำคัญ คือ เจฟินเทค ซึ่งมีพาร์ทเนอร์จากประเทศเกาหลีมาร่วมลงทุน เป็นบ่อนํ้ามันที่สำคัญ ปัจจุบันกลุ่มเจมาร์ทต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับธนาคารเดือนละ 4% เมื่อมีพันธมิตรคือ KB Kookmin หากกู้เงินลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 2% เป็นประโยชน์สำหรับบริษัทเพราะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล

 

ลั่น!ดิสรัปต์คู่แข่ง

โครงสร้างธุรกิจที่เข้มแข็งธุรกิจในกลุ่มสามารถซินเนอร์ยีได้ทั้งหมดซึ่งเป็นจุดแข็งของกลุ่มที่คู่แข่งไม่มีในอนาคต อีกทั้งบริษัทใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในกลุ่มให้เกิดประโยชน์ ซึ่งยังไม่เห็นบริษัทไหนที่มีโครงสร้างที่ชัดเจนเหมือนกับกลุ่มเจมาร์ท

“เราไม่พูดเปรียบเทียบกับ ซีพี ไม่พูดเปรียบเทียบกับ SCG เพราะเป็นคนละรูปแบบ แต่นอนแบงก์ คือ คู่แข่งวันนี้เราจะเป็นธุรกิจการเงิน-ค้าปลีก แต่เราจะฝังรากลึกและดิสรัปต์คนอื่นให้ได้ ทุกคนที่เป็นคู่แข่งนี้คือความท้าทาย ใครเคยคิดว่า เมสซี่ เมื่อตอนเด็กจะเก่งขนาดนี้ ใครคิดว่า โรนัลโดตอนเด็กมาอยู่แมนยู 17 ปี พออายุ 20 กว่าปี กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องใช้เวลา JMT เข้าตลาด 8 ปี สามารถซื้อหนี้จากสถาบันการเงินได้มาเกือบจะ 2 แสนล้านบาท ใช้เวลาเช่นเดียวกัน” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,586 หน้า 16 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน 2563