การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ไทย รุนแรงติดอันดับท็อป 5 ของโลกผลสำรวจพบเด็กไทย 48% เคยเกี่ยวข้องกับการบูลลี่ การกลั่นแกล้งบนโซเชียลกว่า 39 ข้อความต่อนาที “เอเอสไอ-ดีแทค” ห่วงเด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์
การกลั่นแกล้งอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปแล้ว แต่เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาทำให้ปัญหาการ กลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying ของไทยทวีความรุนแรงขึ้นจนติดอันดับท็อป 5 ของโลก จากผลสำรวจพบเด็กไทย 48% เคยเกี่ยวข้องกับการ บูลลี่ การกลั่นแกล้งบนโซเชียลกว่า 39 ข้อความต่อนาที ชี้เด็กไทยมีความเสี่ยงต่อภัยออนไลน์จากปัญหาไซเบอร์บูลลี่
นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า “การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying เป็นปัญหาสากลที่พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและใช้สื่อดิจิทัลออนไลน์ในการเข้าถึงการเรียนรู้ สาระประโยชน์ ความบันเทิง และโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้เด็กไทยเสี่ยงภัยจากการรังแกบนโลกออนไลน์เพิ่มจากการใช้สื่อดิจิทัลที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง ก็จะยิ่งทำให้ขาดทักษะความฉลาดทางดิจิทัลในการตระหนักรู้ แยกแยะ และสามารถรับมือกับการรังแกบนโลกออนไลน์ได้ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งในฐานะของผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง
ทั้งนี้ ผลสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) จาก 450 โรงเรียนทั่วประเทศในปี 2562 พบว่า เด็กไทยมีโอกาสเผชิญกับอันตรายต่างๆ บนโลกออนไลน์ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การกลั่นแกล้งออนไลน์, การใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มีวินัย, ความเสี่ยงจากการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม, ความเสี่ยงจากการพบคนแปลกหน้า, การถูกคุกคามในโลกไซเบอร์ รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง
ด้านนางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า “ดีแทคได้ร่วมมือกับ Wisesight จากการศึกษาผ่าน Social listening tool โดยได้รวบรวมข้อความต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียพบว่า โลกออนไลน์ของไทยมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ แกล้ง ล้อ และเหยียดราว 700,000 ข้อความหรือเฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาทีและมีการขยายความต่อผ่าน การรีทวีต ไลก์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวทั้งสิ้นราว 20 ล้านรายการโดยลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียของไทยนั้น เป็น การบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ 36.4% การบูลลี่ทางเพศวิถี 31.8% และ การบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ 10.2% ส่วนที่เหลือเป็นการบูลลี่ด้านอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา บุคลิกลักษณะนิสัย รสนิยม ความชอบ ฐานะทางการเงิน และครอบครัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าการแกล้งกันทางออนไลน์นั้นส่วนมากพบในวงการ “การศึกษา” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับ “อนุบาล” ไปจนถึงระดับมัธยม จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่าโซเชียลมีเดียของไทยในทุกแพลตฟอร์มล้วนประกอบไปด้วยข้อความที่สร้างความเกลียดชังผ่านการแกล้งกันทางออนไลน์ ซึ่งเด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงอย่างมากทั้งการเป็นผู้แกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างความแข็งแรงทางดิจิทัล (Digital Resilience) ให้สามารถเผชิญและรู้เท่านั้นต่อปัญหา
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,587 หน้า 16 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2563