นายนิโคลัส แบรี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คริกเกท แลบ จำกัด (Cricket Lab Co.,Ltd.) เปิดเผยว่า คริกเกท แลบ เป็นฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นโรงงานผู้ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีดตามมาตรฐานยุโรป โดยฟาร์มและโรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีกำลังผลิตเดือนละ 10 ตัน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นโปรตีนผงจากจิ้งหรีดได้ 2.5 ตัน หรือปีละ 30 ตัน
คริกเกท แลบ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BoI โดยร่วมทุนกับ บริษัท เซ้นฟูดส์ (SENS Foods Ltd.) ประเทศเยอรมัน เพื่อส่งออกผงโปรตีนจิ้งหรีดไปยังลูกค้าในทวีปยุโรป ที่มีความต้องการโปรตีนทางเลือกเพื่อมาทดแทนเนื้อสัตว์ จิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน เพราะเป็นโปรตีนคุณภาพเดียวกับ หมู เนื้อ ไก่ ปลา แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่า ขณะที่การเลี้ยงไม่ต้องใช้สารปฎิชีวนะ และสารเร่งการเติบโต ทั้งมีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่า ใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงน้อย เช่น ใช้อาหารน้อยกว่า 12 เท่า ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อยกว่า 15 เท่า ใช้น้ำในการเลี้ยงน้อยกว่า 2,000 เท่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน 100 เท่า
คริกเกท แลบ มีสินค้า 3 ประเภทหลัก คือ จิ้งหรีดอบแห้ง จิ้งหรีดบดผง และ จิ้งหรีดแช่แข็ง จิ้งหรีดของ Cricket Lab เป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากโปรตีนกลูเตน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการตัดแต่งทางพันธุกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลูกค้าสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ หรือเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่ต้องการโปรตีนในปริมาณสูง
แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยุโรปปิดประเทศ ส่งผลกระทบให้ไม่สามารถส่งออกได้ ขณะที่คู่ค้าบางส่วนขอชะลอออร์เดอร์ เนื่องจากลูกค้าขอดูสถานการณ์ก่อน คาดว่าจะเริ่มกลับมาส่งออกได้ในต้นเดือนหน้าตามปกติ ขณะเดียวกัน คริกเกท แลบ จะเริ่มทำตลาดในประเทศ โดยจะวางผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดพันธุ์เวียดนามแช่แข็ง ในห้างโมเดิร์นเทรดเร็วๆ นี้ และได้จับมือทำการตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูปอื่นๆ ที่จะเข้าตลาดในปลายปีนี้ด้วย
ปัจจุบันการบริโภคแมลงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ในต่างประเทศผู้บริโภคหันมารับประทานผลิตภัณฑ์จากแมลงเพิ่มขึ้น ข้อมูลจาก Food Navigator พบว่ามีผู้บริโภคแมลงทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป หรือแม้กระทั่งในเอเซีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน มีแบรนด์ดังอย่าง Muji ของญี่ปุ่น ก็เพิ่งทำการตลาดสินค้าจากแมลงเมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งประชากรบางกลุ่มในประเทศไทยก็บริโภคแมลงอยู่แล้ว เช่น รถด่วน หนอนไหม จิ้งหรีด ตั๊กแตน นอกเหนือจากการบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ
คริกเกท แลบ เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นฟาร์มพาณิชย์ระบบปิด วางกล่องเลี้ยงในกล่องแนวตั้งสูงถึง 6 เมตร และควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในการเลี้ยง รักษาความสะอาด ให้อาหารอินทรีย์ และน้ำที่ใช้เลี้ยงเป็นแบบ UV Filter มาตรฐานน้ำบริโภคของมนุษย์ ได้มาตรฐาน GAP-Good Agriculture Practice โดยตลอดกระบวนการผลิตได้มาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยด้านอาหาร ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น FDA, GMP, HACCP, HALAL, และ IFS
ปัจจุบันเลี้ยงจิ้งหรีด 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สะดิ้ง เพื่อผลิตเป็นโปรตีนผง และ จิ้งหรีดอบแห้ง และพันธุ์เวียดนาม เพื่อผลิตจิ้งหรีดแช่แข็ง สำหรับนำไปประกอบอาหารแบบเป็นตัว ทั้งสองแบบสามารถนำไปประกอบอาหาร หรือเป็นส่วนผสมของอาหารได้ทั้งสำหรับคนและสำหรับสัตว์ โดยข้อกำหนดการส่งออกแมลงไปทวีปยุโรปต้องใช้สายพันธุ์สะดิ้ง เท่านั้น ส่วนสายพันธุ์เวียดนาม จุดเด่น คือให้โปรตีนที่สูงกว่า เลี้ยงง่าย เป็นโรคน้อย เพื่อส่งออกหรือขายในประเทศได้
นอกจากนี้ คริกเกท แลบ ร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิจัยการนำมูลจิ้งหรีดไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อินทรีย์ รวมทั้งเร่งวิจัยและพัฒนาการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุนการผลิตให้ได้โปรตีนคุณภาพสูง ในราคาที่ต่ำกว่าการผลิตโปรตีนจากสัตว์ประเภทอื่น ให้เป็นโปรตีนแห่งอนาคต ซึ่งจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ชาวบ้านให้ร่วมเลี้ยงจิ้งหรีดต่อไป
คาดว่าจากยอดขายเดิมปีละ 2.5 ล้านบาท จากการส่งออกจิ้งหรีดผงอย่างเดียว เมื่อมาเปิดตลาดในประเทศ คาดยอดขายจะเพิ่มได้ 100% จากกำลังการผลิตที่ปีละ 30 ตัน มูลค่าประมาณ18 ล้านบาท โดยพร้อมขยายกำลังการผลิตได้ถึงเดือนละ 20-30 ตัน มูลค่าการตลาด 25 ล้านบาทในปีถัดไป
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563