ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดในวันนี้ (2 ก.ค.2563) พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเติมน้ำใต้ดิน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุมโครงการเติมน้ำใต้ดินและการเตรียมขยายผลโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำทั่วประเทศโดยการประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางและให้ความรู้เพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ พร้อมมอบคู่มือการเติมน้ำใต้ดินให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อนำไปถ่ายทอดผ่านผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ การยอมรับ เห็นคุณค่าการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ได้แก่ น้ำท่วม น้ำหลาก และน้ำแล้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กป้อม สั่งรับมือ น้ำท่วม 40 จังหวัด
“บิ๊กป้อม” สั่งด่วนกำจัดผักตบชวา“แม่น้ำท่าจีน”รับฤดูน้ำหลาก
ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของตนและสามารถมีน้ำที่มีคุณภาพดีทั้งก่อนเก็บและหลังเก็บได้อย่างยั่งยืนตลอดไปซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณการแก้ปัญหาน้ำได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นเจ้าภาพหลักในการศึกษาและกำหนดแนวทางการเติมน้ำใต้ดินเพื่อนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วม/น้ำหลาก หรือจากน้ำฝนที่ตกลงมา เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ และเป็นการฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และเพิ่มน้ำต้นทุน ให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต
พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ ทส.และ มท.ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการเติมน้ำใต้ดินโดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ทฤษฎีแก้มลิงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง พร้อมกำชับ ผวจ.ทุกจังหวัดให้กำกับดูแล และควบคุม ท้องถิ่นที่ดำเนินการเติมน้ำใต้ดินจะต้องทำอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน/เกษตรกร เมื่อจำเป็นต่อไป พร้อมกันนี้ได้เชิญชวน ข้าราชการ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการและรณรงค์การประหยัดน้ำ รู้จักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ทั้งการอุปโภคบริโภค การทำเกษตรปลูกพืชน้ำน้อย รวมถึง การมีแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตนเองได้ ของทุกภาคส่วน ในอนาคตข้างหน้า