คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,589 หน้า 10 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม 2563
ครม.นัดส่งท้ายกลางปี อังคารที่ 30 มิ.ย.63 มีวาระที่ “วิษณุ เครืองาม” ในฐานะคณะกรรมการติดตามการดําเนินการ แก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) แนบแฟ้ม “รายงานความคืบหน้าการดําเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทยฯ ให้ครม.รับทราบ
ไฮไลต์คือความคืบหน้าในการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหมดของการบินไทย
เริ่มจาก “เจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่และเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน (Lessors)” ได้เริ่มการเจรจาไปแล้ว 21 ราย ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและยินดี สนับสนุน การบินไทยต่อไป ขั้นตอนต่อไปการบินไทยจะต้องเสนอจํานวนเงินที่จะทยอยชําระหนี้ให้เจ้าหนี้พิจารณา เพื่อออกหนังสือยินยอมให้การบินไทยใช้เครื่องบิน (Consent to use aircrafts) ต่อไป
“เจ้าหนี้คู่ค้า” การบินไทย ได้จัดเตรียมจดหมายแจ้ง และอธิบายการฟื้นฟูกิจการเพื่อสร้างความมั่นใจในการเป็นคู่ค้ากับการบินไทยต่อไป
“เจ้าหนี้สถาบันการเงินในประเทศ” การบินไทย ได้เริ่มนัดเจรจาไปแล้ว 16 สถาบันการเงิน “เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง” ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงการบินไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เพื่อขอให้ชําระคืนหนี้กู้ต่อจํานวน 437.45 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมค่าธรรมเนียมการให้ กู้ยืมเงินต่อ ซึ่งการบินไทยยังไม่ได้ชําระคืนเงินกู้จํานวนดังกล่าวเนื่องจาก อยู่ภายใต้สภาวะพักการชําระหนี้ ชั่วคราวโดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
“เจ้าหนี้หุ้นกู้” การบินไทย ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้งเจ้าหนี้ ที่เป็นสหกรณ์และรายย่อย เนื่องจากการบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะพักการชําระหนี้ชั่วคราวโดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูและต้องรอความชัดเจนในแผนธุรกิจใหม่ (New Business Plan) เพื่อกําหนดกรอบในการเจรจาต่อไป
“ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้ส่งคําร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้การบินไทย เกือบครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงเจ้าหนี้ ที่อยู่ในต่างประเทศประมาณ 1,000 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถ ส่งคําร้องได้ครบถ้วนภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยหากเจ้าหนี้รายใดมีความประสงค์จะคัดค้านการฟื้นฟู กิจการจะต้องยื่นคําคัดค้านให้ศาลล้มละลายกลางภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2563
“เจ้าหนี้ไมล์สะสม (ROP)” ที่ยังไม่ได้แลกสิทธิประโยชน์ เป็นเจ้าหนี้กระทําการ ที่ต้องแจ้งข้อมูลตามกฎหมายล้มละลาย แต่ไม่ใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชําระหนี้ได้ และการบินไทยได้ดําเนินการแจ้ง ข้อมูลต่างๆ สําหรับเจ้าหนี้กลุ่มนี้แล้ว โดยเจ้าหนี้ไมล์สะสม (POP) ที่ยังไม่ได้แลกสิทธิประโยชน์ ยังคง มีสถานภาพ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ คงเดิมภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้จะสามารถนําไมล์สะสม มาใช้ได้ตามปกติหลังจากที่การบินไทยกลับมาให้บริการแล้ว
“ทั้งนี้การบินไทยจะทําการคงสถานะ และขยายอายุไมล์สะสม ที่จะหมดอายุให้ตามระยะเวลาที่การหยุดให้บริการ (สามารถดําเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล) อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการบินไทยขอสงวนสิทธิ์ในการแลกไมล์สะสมเป็นตัวเครื่องบินของสายการบินพันธมิตรอื่น ใน Star Alliance ตลอดจนการแลกบัตรกํานัล หรือสิ่งอื่นใดที่ต้องมีการจ่ายเงินสดออกจากการบินไทย”
“เจ้าหนี้ตั๋วโดยสาร” สามารถเลือกได้ว่า ต้องการเลื่อนตั๋วโดยสารออกไปจนกว่าการบินไทยจะกลับมาให้บริการ หรือต้องการรับเงินค่าตั๋วโดยสารคืน (Refund) โดยในกรณีลูกค้าที่ต้องการรับเงินคืน การบินไทยจะยังไม่สามารถชําระคืนเป็นเงินสดได้เนื่องจากอยู่ภายใต้สภาวะพักการชําระหนี้ชั่วคราวโดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) แต่จะบันทึกลูกค้าดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้กลุ่มหนึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มนี้ไม่จําเป็นต้องยื่นขอรับชําระหนี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้การบินไทยได้ดําเนินการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าผ่านจดหมาย ข้อความสั้น (SMS) และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมาย ตลอดจนสิทธิ และผลกระทบอย่างใกล้ชิดด้วยแล้ว”
และอีกเรื่องที่รายงานกับครม. คือ การบินไทย ยังไม่เริ่มดําเนินการลดจํานวนพนักงานในขณะนี้ โดยจะเริ่มดําเนินการโดยอาศัยความสมัครใจของพนักงานเป็นลําดับแรก แล้วจึงใช้มาตรการการประเมินจากประสิทธิภาพ และสมรรถนะของพนักงานในลําดับถัดไป