การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ผ่านวาระแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีประเด็นที่มีการอภิปรายถึงก็คือเรื่องการก่อหนี้ในรัฐบาล" ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ซึ่งปีงบฯ 64 ตั้งเป็นงบขาดดุลงบประมาณ 6.23 แสนล้านบาท คิดเป็น 18.9 ของวงเงินงบประมาณ ขณะเดียวกันรัฐยังมีภาระหนี้จากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
จากเอกสารงบประมาณ ปีงบ 2563 - 2564 "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า "เงินกู้ภายในประเทศโดยตรงของรัฐบาล" มีจำนวนทั้งสิ้น 2,075,192.9 ล้านบาท และ 1,819,530.6 ล้านบาท ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือวงเงินกู้ ฯ ที่เพิ่มมากกว่าครึ่งมาจากการ "ก่อหนี้ใหม่"
โดยเป็นการก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ 2563 จำนวนทั้งสิ้น 1,196,822 ล้านบาท ได้แก่ 1.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2563 จำนวน 469,000 ล้านบาท, 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไป ภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปีวงเงิน 101,022 ล้านบาท 3.เงินกู้เพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชี้อไวรัส "โควิด-19 " พ.ศ. 2563 จำนวน 536,000 ล้านบาท 4.เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 90,000 ล้านบาท 5.เงินกู้เพื่อให้กู้ต่อ 68,155.5 ล้านบาท และ 6.เงินกู้บาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 800 ล้านบาท
ขณะที่การก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 1,208,085.9 ล้านบาท ได้แก่ 1.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 จำนวน 623,000 ล้านบาท, 2.เงินกู้เพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชี้อไวรัส "โควิด-19 " พ.ศ. 2563 จำนวน 400,000 ล้านบาท 3.เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 99,000 ล้านบาท 4.เงินกู้เพื่อให้กู้ต่อ 86,085.9 ล้านบาท
ส่วนเงินกู้ของที่เหลือในปีงบ 2563 และปีงบ 2564 จำนวน 878,371 ล้านบาท และ 611,445 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา อาทิ เงินกู้เพื่อการบริหารและจัดการหนี้เงินกู้เพื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ,เงินกู้เพื่อการบริหารและจัดการหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของ "ภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี "ในปีงบประมาณ 2564 มีรายการใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการวงเงินรวม 255,373.3 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาระผูกพันงบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้วก่อนปีงบประมาณพ.ศ. 2564 จำนวน 981,019.8 ล้านบาท จึงมีภาระผูกพันงบประมาณรวมทั้งสิ้นจนถึงงบประมาณ พ.ศ. 2564จำนวน 1,236,393.1 ล้านบาท
แบ่งเป็นภาระผูกพันงบปี 2564 วงเงิน 245,942 ล้านบาท ,ปี 25 65 จำนวน 328,695.4 ล้านบาท ,ภาระผูกพันงบปี 2566 วงเงิน 134,472.2 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 73,254.9 ล้านบาท และเป็นวงเงินที่ได้รับงบประมาณตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อนปี 2564 มีจำนวน 389,125.2 ล้านบาท
จำแนกตามหน่วยงาน 3 อันดับแรก ที่มีภาระผูกพันงบประมาณข้ามปี มากสุดได้แก่ กระทรวงคมนาคม 373,774.2 ล้านบาท (เป็นงบที่จะเริ่มดำเนินการ 79,043.9 ล้านบาท ) ,กระทรวงกลาโหม 173,113.9 ล้านบาท ( เป็นงบที่จะเริ่มดำเนินการ 32,540.5 ล้านบาท ),กระทรวงมหาดไทย 139,906.8 ล้านบาท (เป็นงบที่จะเริ่มดำเนินการ 41,508.9 ล้านบาท )
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย กล่าวว่า ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ตั้งไว้ 3.3 ล้านล้านบาท ควรมีการปรับลดลงหรือไม่ เนื่องจากการคาดการณ์รายได้ ได้มีการปรับลงจาก 2.777 ล้านล้านบาท เหลือ 2.677 ล้านล้านบาท (จากประมาณการงบประมาณปี 63 ที่ได้ตั้งไว้คือ 2.731 ล้านล้านบาท ) ซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะต้องมีการปรับลดลงมากกว่านี้ หลังจากเราได้เห็นผลกระทบเชิงลบจากพิษโควิด-19
ทั้งนี้การปรับลดรายได้ทําให้วงเงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นเกิน 623,000 ล้าน ดังนั้นควรหั่นลดงบประมาณการซื้ออาวุธ หรือการดูงานที่ไม่จำเป็น
ด้านนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเงินกู้ และเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ระบุในบทความที่เขียนก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลอาจถึงทางตันในการกู้เงินมาใช้จ่ายในงบประมาณประจำปีต่อจากนี้ เนื่องด้วยรายได้จากภาษีอากรที่จะเก็บได้แต่ละปีจากนี้ไปอีก 3 ปี จะไม่เพิ่มขึ้นจากที่เคยเก็บได้ถึง 2.563 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจหลังจากนี้กว่าจะฟื้นตัวกลับมาให้เท่าปี 2562 ต้องใช้เวลาคาดจะนานถึง 3 ปี ขณะที่ความต้องการในการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายประจำปียิ่งมีมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 คืองบใช้หนี้เงินกู้ของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้หนี้เงินกู้ก้อนใหญ่ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเข้าไปช่วยบรรเทาและเยียวยาประชาชนในปีนี้
"ภาระหนี้ระยะยาวที่เป็นของเก่าที่รัฐบาลต้องรับมามีมากอยู่แล้ว นับตั้งแต่หนี้ เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของ FIDE จากภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ยังมีภาระหนี้อยู่ถึง 750,000 ล้านบาท หนี้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่อาจเหลือภาระหนี้ที่ต้องชำระอีกไม่น้อยกว่า 350,000 ล้านบาท และมาคราวนี้ภาระหนี้โควิด 19 ที่รัฐจะต้องรับใช้ หนี้ตั้งแต่ปี 2564เป็นต้นไปอีก 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าปีงบประมาณ 3 ปีจากนี้ ( 2564- 2566 ) รัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึงปีละ 600,000 - 700,000 ล้านบาท "