เมื่อวันที่ 11 ก.ค.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าผลการทดสอบ "วัคซีนโควิด-19" ของประเทศไทยโดยใช้ สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง หลังจากเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจนต่อเชื้อได้ในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ และลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วัคซีน โควิด-19 จะเป็นวัคซีนที่ใช้เวลาการพัฒนาเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์
นักวิจัยไทยผู้คิดค้น“วัคซีนโควิด -19”
ข่าวดี "ไฟเซอร์"เผยทดลอง “วัคซีนต้านโควิด-19” ในมนุษย์ได้ผลน่าพอใจ
ข่าวดี "จุฬาฯ" ลุยทดลอง"วัคซีนโควิด" กับมนุษย์
หลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไปแล้วสองสัปดาห์ นักวิจัยได้เจาะเลือดมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิดที่ยับยั้งเชื้อหรือ Neutralizing antibody นั้น ถือเป็นข่าวดีมากที่พบว่า ลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ดังนั้นจึงได้ตกลงเดินหน้าต่อไปตามแผนที่จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ในเดือนต.ค.นี้
สำหรับการดำเนินการต่อไป จะดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกันเพื่อให้ได้วัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยการทดสอบในมนุษย์ซึ่งจะเริ่มสั่งการผลิตวัคซีนในสัปดาห์หน้า เพื่อจะใช้ในการทดสอบในมนุษย์ โดยจะเริ่มรับอาสาสมัครในเดือน ส.ค. –ก.ย. และจะฉีดเข็มแรกในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้ การทดสอบจะทำทั้งหมด 3 ระยะ รวมทั้งจะเตรียมการผลิตให้เพียงพอและเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน โดยประสานกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีความพร้อมที่จะผลิตให้พร้อมใช้ รวมทั้งร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีกับต่างประเทศด้วย
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนอย่างมากและได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ท่านได้มอบนโยบายเพื่อให้คนไทยสามารถมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรกๆ เมื่อสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ โดยมอบให้ อว. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินงานในเชิงรุก ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนาในประเทศและร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมการผลิตให้ทันท่วงทีและเพียงพอ ในขณะนี้ ยังได้เจรจาหารือกับต่างประเทศในการร่วมวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเตรียมการผลิตไว้ด้วยแล้ว” นายสุวิทย์ กล่าว
ศาสตราจารย์ นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ และ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งว่าผลการทดสอบที่น่าพอใจนี้ เป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้และแสดงศักยภาพการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ที่นับว่าเป็นการวิจัยที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยก้าวต่อไปและรายละเอียดการวางแผนในการผลิต เพื่อทดสอบในอาสาสมัครรวมทั้งการวางแผนในการผลิตในประเทศเพื่อใช้ให้เพียงพอในประเทศ จะมีการแถลงโดยละเอียดในวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น ที่ตึกภูมิสิริ ชั้น 12 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย