กลับมาอีกครั้งกับการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไทย งวดไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งนักลงทุนรอผลอย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะเริ่มประกาศตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 แน่นอนว่า ตัวเลขต้องออกมาไม่สวยงาม เพราะช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงที่เจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบเต็มไตรมาส โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิกลุ่มแบงก์จะออกมาตํ่ากว่าไตรมาสแรก ปี 2563 ที่อยู่ที่ 44,120 ล้านบาท และตํ่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 55,075 ล้านบาท
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซียพลัส เปิดเผยว่า คาดการณ์กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 37,744 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสก่อน และลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลง 6% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่สามารถชดเชยได้กับสินเชื่อกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัว 4.7% จากไตรมาสก่อน และจากต้นปีถึงปัจจุบันที่ 6.4% อยู่ที่ 12.7 ล้านล้านบาท หลังความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ (Loan paymentholiday) ที่มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการประมาณ 40% ของสินเชื่อ ทั้งระบบ ส่งผลให้ NIM ลงมาที่ 2.92% จาก 3.23% ในไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ หลังลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ รวมถึงที่ผ่านมาธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จากเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพื่อลดปัญหาเอ็นพีแอลในอนาคต ปัจจุบันมีลูกหนี้เข้าร่วม loan payment holiday ทั้งสิ้น 6.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้รายย่อย 3.77 ล้านล้านบาท หรือ 56%, เอสเอ็มอีประมาณ 2.21 ล้านล้านบาท หรือ 20% และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 0.77 ล้านล้านบาทหรือ 11%
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะสัดส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอี 2.21 ล้านล้านบาท ที่ก่อนจะถูกกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ คาดว่า มีบางส่วนที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ แม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยทุกๆ 10% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการจะไหลตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล บนสมมติฐานค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น (ECL)ที่ 50% จะส่งผลให้กลุ่มมีค่าใช้จ่าย ECL สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมมาตรการราว 100,000 ล้านบาท
นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)กล่าวว่า ผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นขยับขึ้นตามยอดจับจ่ายและรายได้ Bancassurance ที่ดีขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายตั้งสำรองเริ่มผ่อนคลายลงตามเศรษฐกิจที่มี Downside จำกัดมากขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) (THAI) เข้ามากดดันเหมือนในไตรมาส 2 และสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรายย่อยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 155,063 ล้านบาท ลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับปี 2562
บล.ยูโอบีเคย์เฮียนระบุว่า ยังคงให้นํ้าหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” โดยประมาณการกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง 20% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมาจากการตั้งสำรองในระดับสูงจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวลง รวมถึงลูกหนี้ THAI ที่เข้าสู่แผนฟื้นฟู และดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง 2 รอบ ส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมหายไปจาก Banassuranceและกองทุนรวมขณะที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นไม่มากมาอยู่ที่ 3.30%จากไตรมาสแรกที่ 3.24% เพราะมีมาตรการช่วยเหลือจากธปท.แต่คาดว่าเอ็นพีแอล จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2563 หลังมาตรการช่วยเหลือหมดอายุลง
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,593 วันที่ 19 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563