21 ก.ค. 63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (Operation and Maintenance : O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP gross cost 30 ปี วงเงิน 39,138 ล้านบาท
โดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ที่เป็นการรวมตัวของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH)
สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค.58 โดยในส่วนของโครงการ M6 ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 ก.ค.58 เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท ส่วนโครงการ M81 ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 ก.ค.58 เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 55,620 ล้านบาท
โครงการ M6 เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเก็บค่าผ่านทาง ขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 196 กิโลเมตร เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกรอบราคากลาง 33,258 ล้านบาท ขณะที่วงเงินค่าตอบแทนที่เอกชนเสนอขอรับ 21,308 ล้านบาท มีทางแยกต่างระดับ 10 แห่ง, ด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง, ระบบเก็บค่าผ่านทาง, ที่พักริมทาง (ไม่รวมอยู่ในสัญญา O&M ในครั้งนี้) ,Rest Area 5 แห่ง, Service Area 2 แห่ง, Service Center 1 แห่ง
ส่วนโครงการ M81 เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเก็บค่าผ่านทาง ขนาด 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 96 กิโลเมตร เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตก และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย มีกรอบราคากลาง 27,828 ล้านบาท ขณะที่วงเงินค่าตอบแทนที่เอกชนเสนอขอรับ 17,801 ล้านบาท มีทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง, ด่านเก็บค่าผ่านทาง 8 แห่ง, ระบบเก็บค่าผ่านทาง, ที่พักริมทาง (ไม่รวมอยู่ในสัญญา O&M ในครั้งนี้) , Rest Area 1 แห่ง, Service Area 2 แห่ง
โดยทั้งสองโครงการมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากโครงการทางหลวงพิเศษที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นสองโครงการแรกที่ใช้ด่านเก็บค่าผ่านทางฝั่งขาเข้าระบบแบบไม่มีไม้กั้นแบบ Full Multilane Free Flow (MLFF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจราจรท้ายแถวสะสมบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากการจราจรแออัด