การท่องเที่ยวภาคใต้ ยังมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะชาวไทยหรือต่างชาติ หลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย และการคลายล็อกเฟส 6 เกิดขึ้นเชื่อว่าบรรยกาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หนึ่งในทางเลือกของการท่องเที่ยววิถีใหม่ คือการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน หรือ Community Base Tourism นั่นเอง
รศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้มีความหลากหลาย สามารถนำมาสร้างจุดขายควบคู่กับแหล่งท่องที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวโลก ซึ่งมองว่าการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน หรือ Community Base Tourism คือการนำความแตกต่างด้านพหุวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่เก่าแก่และมีเอกลักษณ์ มายกระดับเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ม.อ. ทั้ง 5 วิทยาเขต ได้ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิชาการและงานวิจัย เพื่อยกระดับการท่องเที่ยววิถีชุมชนในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสร่วมพูดคุยกับชุมชนร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในแต่ละจังหวัด เพื่อช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้ลงไปสู่ระดับอำเภอหรือตำบล แทนที่เม็ดเงินรายได้ดังกล่าวจะกระจุกตัวอยู่แต่ในตัวเมืองหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญเท่านั้น
สำหรับวิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ดำเนินการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ได้ดำเนินการมานานกว่า 10 ปี เพื่อสร้างสมดุลระหว่างระบบนิเวศ เศรษฐกิจและชุมชน มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตควบคู่ไปด้วย ทำให้สามารถกระจายเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวแก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
ด้านผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว คณะวิทยาการสื่อสาร วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ตอนล่างนั้น ทางวิทยาเขตปัตตานีได้เข้าสร้างภาพลักษณ์ให้แก่การท่องเที่ยวให้กลับมามีสีสัน ด้วยการทำโครงการ Pattani Heritage City หรือวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เพื่อสร้างจุดขายด้านการเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรม โดยนักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นความหลากหลายของวัฒนธรรม สัมผัสถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างศาสนา พร้อมกันนี้ยังได้พัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ เช่น ผ้าทอจวนตานี กิจกรรมเดินทัวร์รอบเส้นทาง เป็นต้น
ขณะที่ผศ.ดร.กุลดา เพ็ชรวรุณ คณะการบริการและการท่องเที่ยว วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า แม้จังหวัดภูเก็ตจะขึ้นชื่อว่ามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่มีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว 7 เส้นทางที่มีการเชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนตั้งแต่ฝั่งอันดามันถึงอ่าวไทยที่ ม.อ.ได้เข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ภายในตำบลที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยวิธีการทำตลาดและการสร้างตราสินค้า รวมถึงการจัดงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญกลายเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัด เช่น เทศกาลกินเจภูเก็ต เป็นต้น