โหมดเกษียณปลอม  ของธุรกิจครอบครัว 

02 ส.ค. 2563 | 08:55 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ([email protected])

หนึ่งในปัญหายากที่สุดสำหรับเจ้าของธุรกิจคือการสืบทอดกิจการและความสำเร็จในระยะยาวของบริษัท  สาเหตุเพราะแทนที่ครอบครัวจะเตรียมความพร้อมให้ทายาทในเรื่องค่านิยมและพฤติกรรมกับไปให้ความสำคัญกับทรัพย์สินมากกว่า เพราะคนรุ่นใหม่จะต้องเข้าใจคุณค่าของครอบครัวและธุรกิจครอบครัว น่าเสียดายที่การวางแผนสืบทอดกิจการไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่เจ้าของธุรกิจจะพิจารณา เนื่องจากเจ้าของมักมีความลังเลที่จะจัดการกับปัญหาการสืบทอดเพราะมักเกี่ยวข้องกับความหมายเชิงลบในเรื่องของการเกษียณอายุและความตาย 

การเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับวางแผนการสืบทอดกิจการเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวางแผนระยะยาวทั้งหมดของครอบครัว แต่ธุรกิจจำนวนมากมักจะอยู่ใน “โหมดเกษียณปลอม” ที่คิดว่าตนเองเกษียณและมอบหมายความรับผิดชอบให้กับคนรุ่นใหม่แล้ว แต่ความเป็นจริงยังคงแทรกแซงในการตัดสินใจทุกครั้งและอยู่เหนือสิทธิอำนาจที่มอบให้ลูกไปแล้ว และในหลายกรณีพนักงานที่อยู่มานานก็ทำเช่นนั้นและกลับไปหาผู้ก่อตั้งเพื่อขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสิ่งนี้จะบั่นทอนและลดแรงจูงใจของสมาชิกรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาไม่สามารถจัดการธุรกิจได้เท่าที่ควรซึ่งอาจสร้างความตึงเครียดและการเติบโตของธุรกิจหยุดชะงัก สิ่งที่ควรทำในการสืบทอดกิจการง่ายๆ คือ

โหมดเกษียณปลอม   ของธุรกิจครอบครัว 

ให้คำปรึกษาและบ่มเพาะทายาทด้วยการถ่ายทอดค่านิยม ความรู้ ประสบการณ์ของครอบครัวถือเป็นกุญแจสำคัญของการถ่ายโอนกิจการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย สร้างคุณลักษณะของคนรุ่นใหม่ บอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ต่อสู้ของคนรุ่นเก่าและผู้ก่อตั้ง และมอบหมายความรับผิดชอบอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้พวกเขาสร้างประสบการณ์ของตัวเองและเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมระดับมืออาชีพและเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆได้

วางแผนการสืบทอดกิจการที่กำหนดว่าธุรกิจควรได้รับการจัดการอย่างไรหลังจากการเกษียณอายุ การตายหรือไร้ความสามารถของผู้ก่อตั้ง อันจะนำมาซึ่งการถ่ายโอนการบริหารธุรกิจ ค่านิยมหลัก วัฒนธรรมและประเพณีของบริษัทที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

กำหนดความคาดหวังและบทบาทที่ชัดเจนให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัวและผู้ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวที่ทำงานในบริษัท เพื่อสร้างความชัดเจนและช่วยลดโอกาสการเกิดความขัดแย้งในอนาคตระหว่างสมาชิกครอบครัวที่มีบทบาทและไม่มีบทบาทในธุรกิจ ลดสาเหตุของความขัดแย้งหรือความคลุมเครือได้ และที่สำคัญคือควรจัดการกำหนดตั้งแต่ในช่วงแรกของการวางแผน

การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอาจมีทางเลือกอยู่ 2-3 ทาง เช่นธุรกิจควรจะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปหรือถ่ายโอนไปให้บุคคลที่สามหรือขายทั้งหมด ที่ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ ความต้องการ ทักษะ ประสบการณ์ในการบริหาร พลวัตของครอบครัวและสถานะปัจจุบันของธุรกิจ สิ่งสำคัญคือการเริ่มวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและการให้คนรุ่นต่อไปเข้ามามีส่วนร่วม

ที่มา: RASHID, A.  2020.  PASSING THE BATON TO THE NEXT GENERATION.  THE GLOBAL MAGAZINE OF FAMILY BUSINESS UNITED.  ISSUE 01.  SPRING/SUMMER 2020.

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563