เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน การระเบิดของ สารแอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) จำนวนกว่า 2,500 ตัน ณ ท่าเรือกรุงเบรุต ได้ก่อความเสียหายรุนแรงในวงกว้างนั้น
กทท.มีมาตรการรัดกุมในการจัดเก็บและส่งมอบสินค้าอันตรายมาโดยตลอด ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยปฏิบัติตามกฎของ International Maritime Dangerous Goods Code (IMDG Code) อย่างเคร่งครัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดภาพวินาที "ระเบิดยักษ์" กวาดกรุงเลบานอน
เศรษฐกิจเลบานอนย่อยยับไปกับแรงระเบิด รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินกรุงเบรุต
ทั่วโลกเร่งช่วย “เลบานอน” กู้หายนะระเบิดเบรุต
"เลบานอน"พบติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 355 ราย คุมยากขึ้นหลังระเบิดในเบรุต
สำหรับที่ ทกท. ได้จำแนกแอมโมเนียไนเตรทที่มีความเสี่ยงเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้แก่
- Class 1.1D, UN0222, AMMONIUM NITRATE (วัตถุระเบิด) กลุ่มนี้จะห้ามขนส่ง ผ่าน ทกท.
กลุ่มที่ 2 ได้แก่
- แอมโมเนียมไนเตรท ที่เป็น UN1942, UN2067, UN3375 (ตัวเติมออกซิเจน) สามารถขนถ่ายผ่าน ทกท. ได้ แต่จะไม่สามารถฝากเก็บในพื้นที่ ทกท. ต้องดำเนินพิธีการขนถ่ายข้างลำเรือทั้งขาเข้าและขาออก ปัจจุบันยังมีการยกเว้นให้ฝากเก็บได้ในกรณีที่น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม
กลุ่มที่ 3 ได้แก่
- Class 9, UN2071, AMMONIUM NITRATE BASED FERTILIZER (สารอันตรายเบ็ดเตล็ด) ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิด แต่ยังคงมีกลิ่นและไอพิษออกมาเล็กน้อย ถูกจัดเป็นสินค้าอันตรายที่มีความเสี่ยงต่ำ สามารถฝากเก็บได้ในเขต ทกท. ไม่เกิน 5 วันทำการ
ส่วนที่ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้จำแนกแอมโมเนียไนเตรทที่มีความเสี่ยงเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้แก่
- Class 1.1D, UN0222, AMMONIUM NITRATE (วัตถุระเบิด) ให้ทำการขนถ่าย ใน ทลฉ. ได้ แต่ไม่รับฝากเก็บ หรือวางพักหน้าท่าเทียบเรือ ต้องนำออกจากบริเวณ ทลฉ. ทันทีที่ขนถ่าย ขึ้นจากเรือ หรือบรรทุกลงเรือโดยตรง
กลุ่มที่ 2 ได้แก่
- แอมโมเนียมไนเตรทที่เป็น Class 5.1 UN1942, UN2067, UN3375 และ Class 9, UN2071, AMMONIUM NITRATE BASED FERTILIZER สามารถขนถ่ายผ่าน ทลฉ. ได้ โดยต้องนำมาฝากเก็บที่คลังสินค้าอันตรายเท่านั้น
อนึ่ง กทท. ได้คำนึงถึงความปลอดภัยในการรับฝากสินค้าอันตรายให้มีความรัดกุม โดยมีการเพิ่มมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขนถ่ายสินค้าอันตรายตามสภาพแวดล้อมและข้อบังคับสากลที่เปลี่ยนแปลงไป ให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ