"ธนาคารแห่งประเทศไทย"ลั่นฐานทุนแบงก์แกร่งแต่เข้มเกณฑ์จ่ายปันผล

17 ส.ค. 2563 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2563 | 11:06 น.

"ธนาคารแห่งประเทศไทย"เกาะติดฐานทุนแบงก์3ปีก่อนไฟเขียวจ่ายปันผล-รอแผนStress Testเดือนต.ค.-แจงไตรมาส2สินเชื่อโต5%สวนทางจีดีพีหดตัว12.2%ขณะเอ็นพีแอลทรงตัวเหตุลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ4.55ล้านล้านบาท

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตอบข้อซักถามสื่อ ในประเด็นการพิจารณาจ่ายเงินปันผลว่า ขณะนี้ธปท.ได้รับแผนทดสอบภาวะวิกฤติ( Stress Test)ของปี2563 เข้ามาแล้ว แต่ยังรอแผน Stress Test ของปี 2564 และปี 2565 ซึ่งกำหนดให้ส่งแผนดังกล่าวในเดือนตุลาคม

 
อย่างไรก็ตามสำหรับการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)และอัตราส่วนสินทรัพย์ สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสด ที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR)อยู่ในระดับสูงเพียงพอไม่น่าห่วง


"ปี63เงินกองทุนอยู่ในระดับที่สบายใจ จึงไม่มีประเด็น แต่ต้องรอปี64และปี65ด้วยเพื่อดูความต่อเนื่องให้มั่นใจ"


แนวทางพิจารณาแผนดังกล่าวนั้น ถ้าหากสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)ต่ำกว่าระดับ12%  ธปท.จะพิจารณาในรายละเอียดของแผนหรือแนวทางการเพิ่มทุนหรือระดมทุนรวมถึงแหล่งที่มาของเงินทุนด้วย โดยธปท.จะหารือเพิ่มเติมกับผู้บริหารของสถาบันการเงิน

 

สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2563 นายธาริฑธิ์ ระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินในภาวะที่ท้าทายในระยะต่อไปได้  โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,877 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.2% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 743.7 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่144.1% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ที่183.4%
 

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่5.0%เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 4.1%  ประกอบด้วยสินเชื่อธุรกิจ (คิดเป็น65.2% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 5.1% ตามการใช้สินเชื่อของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ 


สำหรับสินเชื่อ SMEs1ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เป็นผลให้หดตัวในอัตราที่ลดลงสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน34.8% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 4.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ สอดคล้องกับการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง


ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive) ซึ่งช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ 


โดยสถาบันการเงินได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 4.55 ล้านบาทคิดเป็น 31%ของสินเชื่อรวม ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ ( NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 509.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.09% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.04% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยง
 

ด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 7.48%ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7.69%


ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 31.0 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 53.3 พันล้านบาท หรือลดลง 49%จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารปรับลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 0.57% จาก1.03% ในไตรมาสก่อน 


สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่2.60%จากไตรมาสก่อนที่2.90%ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนา