การเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ หลังปรับครม. 2/2 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงานและนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่ามกลางชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ติดลบถึง 12.2% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ติดลบ 2%
ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ โดยระบุว่า จะมีการนำเสนอในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
มาตรการที่จะออกมาครั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ระบุว่า นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการขนากลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ โดยจะนำข้อเสนอทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาพิจารณา แต่ยํ้าว่า มาตรการที่จะออกมาครั้งนี้ จะต้องเกาให้ถูกที่คัน และจะต้องกระตุ้นไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้มาตรการสัมฤทธิผล
ฟื้น “ช้อปช่วยชาติ”
ดังนั้นหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงคือ มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่รัฐบาลเคยนำมาใช้กระตุ้นการบริโภคและสัมฤทธิ์ผล สามารถเพิ่มเม็ดเงินลงไปในระบบได้จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนอกจากไม่ต้องใช้เม็ดเงินโดยตรงจากรัฐบาล เพราะขณะนี้เม็ดเงินที่เหลือยังมีจำกัด จากที่อยู่ในช่วงท้ายของปีงบประมาณ 2563 แล้วภาคเอกชนเองได้เรียกร้องมาตรการดังกล่าวจากรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะออกมา ส่วนหนึ่งจะมีการเสนอให้ดึงงบประมาณจากพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ซึ่งตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่าย สำหรับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 88,452.59 ล้านบาท มาใช้ หากวงเงินไม่เพียงพอก็ยังสามารถใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงงิน 1 ล้านล้านบาทมาใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะเงินกู้ตามแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่มีกรอบวงเงิน 555,000 ล้านบาทนั้น มีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 344,735 ล้านบาท ทำให้ยังมีวงเงินเหลืออีกกว่า 2.1 แสนล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดัน‘ชิม ช้อป ใช้’ ปลุกกำลังซื้อ
ห้างค้าปลีกดับเครื่อง “เซลทั้งเมือง” 3 พันร้านเฉือนเนื้อ ทวงนายกฯฟื้น "ช็อปช่วยชาติ"
ชงข้อมูลสภาพัฒน์
นายพัฒนา สุธีระกุลชัย ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมเดินหน้าผลักดันให้รัฐบาลจัดทำโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ เพราะเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคมีกำลังจับจ่ายแต่จะเลือกซื้อที่ความคุ้มค่ามากที่สุด ล่าสุดสมาคมได้นำเสนอรายละเอียดต่อสภาพัฒน์ไปแล้ว มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมกับให้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นสมาคมจึงกลับมาศึกษาข้อมูลถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดต่อประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เพื่อนำเสนอเพิ่มเติมเข้าไป
ทั้งนี้อยากให้สนับสนุนกลุ่มสินค้าประเภทที่ไม่ใช่อาหารหรือ non-food เพราะที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจอาหาร ยังคงมีการบริโภคและเติบโต แตกต่างจากกลุ่ม non-food ที่หลายประเภทสินค้าชะงักไม่มีการซื้อ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยรวม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า ฯลฯ
“ตั้งแต่ต้นปีการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ราคาสูงหลักหมื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า ต่างชะลอไป ซึ่งเมื่อสินค้าขายไม่ได้ โรงงานก็หยุดผลิต ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงาน คนว่างงาน หากสินค้าเหล่านี้มีการจับจ่ายเลือกซื้อ หมุนเวียน ก็จะเกิดการผลิตต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลควรจะกำหนดให้เลือกจับจ่ายสินค้าประเภทนี้ได้”
หนุนช็อปวิถีใหม่
นายพัฒนา กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่า “ช้อปช่วยชาติ” จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายซื้อสินค้าได้จริง เพราะเป็นการนำใบกำกับภาษีไปลดหย่อน และจะช่วยผู้ผลิตโดยตรง ไม่ใช่ส่งผลเฉพาะคนรวย หรือห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเพียงตัวกลางในการจับจ่ายเลือกซื้อ และยังสร้างงานให้กับพนักงานจำนวนมากด้วย
“อยากให้มีโครงการช้อปช่วยชาติทุกเดือน โดยกำหนดเป็นวงเงินให้และนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพราะจะช่วยกระตุ้นผู้บริโภคที่มีเงินเดือนให้กล้าใช้จ่ายเงิน สมาคมเชื่อว่ารัฐบาลจะจัดให้มีโครงการช้อปช่วยชาติขึ้นอีกครั้ง แต่จะมีรูปแบบหรือแพลต ฟอร์มที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และวิถีใหม่หรือ New Normal”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่าโครงการช้อปช่วยชาติ จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของภาคเศรษฐกิจโดยรวม หากมีการกำหนดประเภทของสินค้า เช่น สินค้าคงทน หรือสินค้ากึ่งคงทน เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม เช่น หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น วัสดุซ่อม/สร้างบ้าน เป็นต้น ขณะที่สินค้าในหลายหมวดต้องซื้อผ่านพนักงาน จะช่วยให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นเช่นกัน
ส่อเค้าตกงานเพียบ
ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนกรกฏาคม 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจเป็นครั้งที่ห้า โดยสมาคมผู้ค้าปลีกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนกรกฏาคม 2563 ปรับลดลงตํ่ากว่าเมื่อเดือนมิถุนายน และอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับตํ่ากว่าเมื่อเดือนมิถุนายนเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากความกังวลจากกำลังซื้อและรายได้ที่หดหายจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น
ขณะที่นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคมนี้ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ว่า สถานการณ์ของค้าปลีกไทย ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยธุรกิจค้าปลีกไทยแต่เดิมนั้นจะมีการเติบโตสูงกว่า GDP ไทยมาตลอด แต่ปัจจุบันนี้ ใกล้เคียงหรือลดลงกว่า GDP ของไทยแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไข ขณะที่โลกมีการเปิดกว้างมากขึ้น มีการแข่งขันที่รุนแรงและเร็วมากกว่าเดิม จึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อการแข่งขันรอบตัวให้ได้
โดยคาดว่าวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาวะเศรษฐกิจจะยังคงยืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นเรื่องที่สมาคมได้เรียกร้องต่อนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล สมาคมอาจจะต้องชี้แจงว่าถ้าไม่ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและหากผู้ประกอบการต่างๆไม่ได้รับความช่วยเหลือ จะต้องเกิดการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นต่อๆไปอย่างไม่อาจเลี่ยงได้