วันนี้ (19 ส.ค.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.
หลังการประชุม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้แบ่งแนวทางดูแลและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ออกเป็น 2 ส่วน
โดยส่วนแรกให้ดูแลระดับพื้นที่ มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่ดูแลปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และดำเนินการภายใต้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ที่รออนุมัติจากสภาฯ
ส่วนที่ 2 ดูแลระดับประเทศ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พิจารณามาตรการเชิงรับที่จะเข้าไปแก้ปัญหาเร่งด่วน ซึ่งจะมีการรวบรวมมาตรการจากฝ่ายต่าง ๆ
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว
และคณะอนุกรรมการรับฟังข้อคิดเห็น โดยจะมีตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทยร่วมด้วย และมีการตั้งคณะกรรมการติดตามวัดผลมาตรการดำเนินการออกมา โดยมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ศบศ. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบศ.อนุมัติ 4 มาตรการ ได้แก่
มาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยจะมีการขยายสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ได้แก่ ขยายสิทธิ์จากคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน และขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาท/คน เป็น 2,000 บาท/คน ที่ผ่านมาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีการใช้สิทธิ์แค่ 550,000 คืน ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด 5 ล้านคืน จึงต้องมีการปรับปรุงและขยายสิทธิ์เพิ่มเติม ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่จะมีการปรับปรุงและแก้ไขโครงการไปเรื่อย ๆ
มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอี ที่กระทรวงการคลังดำเนินการแล้ว มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้ รมว.แรงงานเร่งทำมาตรการเสนอ โดยให้จัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้ารวมอยู่ในแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” เบื้องต้นเท่าที่มีการรวบรวมขณะนี้มีตำแหน่งสามารถจ้างงานได้อีก 600,000-700,000 ตำแหน่ง รองรับจากปัจจุบันที่มีอัตราว่างงาน 750,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะมีการรวบรวมและจัดจ็อบเอ็กซ์โป เพื่อให้คนรับรู้ และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งแนวทางจะไม่ใช่การแจกเงิน แต่จะเป็นลักษณะโคเพล์ ทั้งนี้ ทั้งหมดให้มีการจัดทำรายละเอียดและเสนอ ศบศ.อีก 2 สัปดาห์
ส่วนนายสมิทธ์ พนมยงค์ โฆษก ศบศ. กล่าวว่า มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะมีการขยายสิทธิ์เพิ่มเติม ดึงภาคธุรกิจและเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมใช้สิทธิ์ด้วย รวมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางไปเที่ยวทั่วประเทศ จากเดิมกระจุกตัวอยู่รอบกรุงเทพฯ
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยืนยันจะไม่ใช่รูปแบบการแจกเงิน แต่จะใช้รูปแบบลักษณะโคเพล์ คือ เอกชนและรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องเหมือนกับโครงการเที่ยวด้วยกัน”