นายวสันต์ จาติกวณิช กรรมการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย กลุ่มบริษัท ล็อกซเล่ย์จึงได้เริ่มจัดตั้งคณะทำงานติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดมาตรการต่างๆ และได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทั้งผู้บริหารและพนักงาน ขณะเดียวกัน ล็อกซเล่ย์ได้ร่วมมือกับบริษัทย่อยคือ บริษัท เค 2 เวนเจอร์ แคปปิตอล (K2VC) พัฒนาโมบายแพลตฟอร์มขึ้นมาช่วยให้บริษัทสามารถบริหารจัดการ และประเมินความเสี่ยงของพนักงานในการติดเชื้อโควิด-19 ให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อ แคร์เช็ก (CareChek)
CareChek เป็นโมบายแพลตฟอร์มประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายบุคคล ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงในการนำโรคติดต่อเข้ามาในสถานที่ทำงาน นวัตกรรมนี้ใช้การวิเคราะห์เชิงทำนาย (predictive analytics) เพื่อคัดกรองพนักงานตามความเสี่ยงของการสัมผัสกับโรคก่อนที่พวกเขาจะติดเชื้อ โดยระบบจะวิเคราะห์และคำนวณระดับความเสี่ยงผ่านการผสมผสานของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น การรายงานอาการของพนักงาน ระบบพิกัด (geo-location) ข้อมูลวิจัยทางการแพทย์ และ ข้อมูลประชากรศาสตร์ เพื่อช่วยจำแนกพนักงานที่อาจมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ซึ่งแนวคิดนี้มีความแตกต่างจากวิธีติดตามการระบาดทั่ว ๆ ไป ที่มีการเจาะจงการติดเชื้อ และต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการใช้งานให้เกิดผลตามเป้าหมาย
“เราได้นำระบบนี้มาใช้งานจริงกับพนักงานในกลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์ เป็นเวลากว่า 3 เดือน ขณะนี้พร้อมให้บริการแก่องค์กรต่าง ๆ ที่สนใจแล้ว แต่สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่บุคลากรมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางล็อกซเล่ย์ยินดีให้สมัครใช้บริการฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมให้ก้าวผ่านสถานการณ์ร้ายแรงนี้ไปด้วยกัน และในอนาคตเรายังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์ม CareChek ให้เพื่อรองรับโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ อีกด้วย” นายวสันต์ กล่าว
ด้าน ดร.ดวริต ตัณฑ์ศุภศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า แพลตฟอร์ม CareChek จะทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่น NotifyMe ของบริษัท IfYouCan พันธมิตรทางธุรกิจของล็อกซเล่ย์ โดยผู้ใช้จะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น NotifyMe ติดตั้งบนเครื่องโทรศัพท์มือถือก่อน แล้วจึงลงทะเบียนเข้าใช้งาน ในแง่ผู้ใช้งานที่เป็นพนักงานในองค์กร เพียงแค่เข้าไปตอบคำถามสุขภาพของตนเองในตอนเช้าทุกวัน ซึ่งข้อมูลจากพนักงานแต่ละคนจะหลั่งไหลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Big Data ที่จะนำมาวิเคราะห์ โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ การป้องกันการแพร่ระบาดแบบเชิงรุก สร้างความสบายใจให้กับพนักงาน คู่ค้า ลูกค้าและครอบครัว พนักงานยังสามารถรับทราบประกาศเกี่ยวกับมาตรการโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีระบบแปลภาษาอัตโนมัติ และฟังก์ชั่นอ่านข้อความสำหรับผู้พิการทางสายตา มีระบบแจ้งผลประเมินความเสี่ยงแบบรายบุคคลและแจ้งเตือนเมื่อเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง
ขณะที่แอดมินของแต่ละองค์กรจะเป็นผู้เฝ้าระวังความเสี่ยง โดยจะได้รับข้อมูลแบบ near real-time แสดงผลบนแดชบอร์ด (dashboard) มีการประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยอัลกอริธึมที่เชื่อถือได้ จุดเด่นคือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคในเชิงรุก ทำให้เราสามารถบริหารจัดการบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการร่วมกันป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 และถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสร้างความคุ้นเคยและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานสู่วิถีใหม่ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับองค์กร หากมีกรณีการระบาดระลอก 2 ในประเทศไทย หรือ เมื่อมีการเปิดรับผู้ที่เกิดทางจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 จะถึงมือประชาคมโลก ความสำเร็จในการนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้จะขึ้นอยู่กับนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์กรในการใช้งาน และการนำผลการวิเคราะห์ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด