วันที่ 26 ส.ค.63 ที่รัฐสภาเกียกกาย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ถึงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะในภาพรวมทั้งประเทศและในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีนโยบายในการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนอย่างไร
นายนิพนธ์ ชี้แจงว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบให้กรมที่ดินดำเนินการในการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(นสล.) เพื่อแสดงขอบเขตของที่ดินสาธารณประโยชน์ให้ชัดเจน ปัจจุบันได้ดำเนินการออก นสล. ไปแล้ว จำนวน 127,495 แปลง เนื้อที่ประมาณ 5,990,623 ไร่ คงเหลือที่ยังมิได้รังวัดออกนสล.อีกจำนวน 3,652 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,045,252 ไร่ และจะได้เร่งรัดดำเนินการให้มีการรังวัดออก นสล. ให้ครบทุกพื้นที่และในปีงบประมาณ 2564
ทั้งนี้ มีเป้าหมายในการดำเนินการอีกปีละ 700-800 แปลงในส่วนของกรมที่ดิน โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างอำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องที่ และสำนักงานที่ดินท้องที่ในการดำเนินการ เพื่อตรวจสอบหาแนวทางที่ชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่วนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ดินสาธารณะประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ได้ออกหนังสือสำคัญที่หลวงไปแล้วจำนวน 740 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 88,000 ไร่ ที่ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญที่หลวงจำนวน 134 แปลง ซึ่งกรมที่ดินได้พยายามเร่งรัดในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญที่หลวง(นสล.) ต่อไปโดยที่ผ่านมาจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้กำหนดพื้นที่ไปแล้ว 3 พื้นที่จำนวน 559 แปลง และส่วนในปี 2564 ได้เสนอโครงการแปลง “ป่าเขาหน้าแดง” ได้รับการสนับสนุนจากกรมที่ดินในการดำเนินโครงการ ซึ่งหากพิจารณางบประมาณปี 2564 ผ่าน กรมที่ดินจะดำเนินตามขั้นตอนต่อไป
ส่วนปัญหาในการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิเพื่อให้ประชาชนที่ได้ถือครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับการที่ประชาชนยื่นขอออกโฉนดที่ดินจากหลักฐานส.ค.1 ตั้งปี 2553 มีที่ดินที่ตกค้างยังไม่สามารถออกโฉนดได้ เบื้องต้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 1,725 แปลง อยู่ระหว่างดำเนินการและตรวจสอบแนวเขตที่ถูกต้องจำนวน1,533 แปลง
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะ กระทรวงมหาดไทยได้ให้จังหวัดได้คัดเลือกที่ดินที่มีผู้บุกรุกและเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ดำเนินการจัดระเบียบการถือของที่ดินตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) โดยจะออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐในรูปแบบชุมชน เช่น สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร โดยให้อำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทเพื่อร่วมกันบริหารจัดการที่ดินสาธารณประโยชน์
ส่วนกรณีที่ไม่มีผู้บุกรุกให้อำเภอร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำป้ายชื่อขอบเขตให้ชัดเจนโดยให้ประชาชนในนั้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาด้วย รวมทั้งมีการส่งเสริมในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน สระน้ำ การประกอบอาชีพ การตลาด อันเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมด้วย
จากนั้นนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมาย ให้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงความเสียหายจากผลกระทบ“พายุฮีโกส” สร้างความเสียหายหนัก ภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยาและมีแผนพื้นฟูอย่างไร
นายนิพนธ์ ชี้แจงว่า ตนได้ลงพื้นที่และได้เห็นความเดือนร้อนของประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)เป็นผู้ประสานดำเนินการ ก่อนเกิดภัย การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยเป็นการดำเนินการป้องกัน การลดผลกระทบ และการเตรียมความพร้อมขณะเกิดภัย การจัดการในภาวะฉุกเฉินโดยยึดหลักให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างรวดเร็วทั่วถึง และหลังเกิดภัยเป็นดำเนินงานภายหลังจากที่ภาวะฉุกเฉินบรรเทาลงหรือได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยยืดหลักการฟื้นฟูที่ดีกว่าเดิมทั้งสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจ ทั้งนี้ได้ย้ำเตือนเรื่องความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับแรก โดยให้ถอดบทเรียนจากพายุ“โพดุล”
นอกจากนี้การใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยนั้นมีในแผนอยู่แล้วเช่นเดียวกับทุกครั้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกำหนดให้มีวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสำรวจและให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ เช่น การครองชีพพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร เครื่องมือทำมาหากิน
ทั้งนี้ยังได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายสำหรับกรณีที่ต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือยานพาหนะพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือด้านต่างๆ รวมถึงความจำเป็นในการจัดส่งเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ที่น้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน