ยอดปฏิเสธบัตรเครดิตพุ่ง 40%

10 ก.ย. 2563 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2563 | 12:17 น.

ตลาดบัตรเครดิตปรับแผน ฝ่าวิกฤติโควิด เศรษฐกิจชะลอ มุ่งประคองลูกค้า หลังยอดสินเชื่อเครดิตหดตัว สวนทางหนี้ค้างชำระขยับเพิ่ม 36% พบยอดปฎิเสธพุ่ง 30-40% 

เศรษฐกิจที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน ทำให้ภาครัฐและเอกชนประสานความร่วมมือ เพื่อดูแลความสามารถในการชำระหนี้ในระบบสินเชื่อ เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เห็นได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยออกมาตรการต่อเนื่อง ทั้งปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่า ทั้งบัตรเครดิตและ สินเชื่อส่วนบุคคล ตามมาด้วยการเลื่อนชำระค่างวดและเงินต้น ปัจจุบันเริ่มมาตรการระยะที่ 2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ล่าสุดเดินหน้ามาตรการรวมหนี้รายย่อยเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณายอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 3.93 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ปรับลดลงกว่า 2,575 ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.65% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.96 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลมียอดคงค้างรวม 5.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,715 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.77% ของช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5.38 แสนล้านบาท

 

นางสาวณญาณี ้เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ภายใต้แบรนด์ บัตรเครดิตกรุงศรี,บัตรกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์,บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน, และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่าเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตเริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่แนวโน้มทั้งปีจะเติบโตในอัตราลดลง โดยบัตรเครดิตน่าจะลดลงราว 10% ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการผ่อนชำระ ยังใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น แม้อัตราเพิ่มจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิดก็ตาม 

ยอดปฏิเสธบัตรเครดิตพุ่ง 40%

 

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลแนวโน้ม น่าจะเติบโตลดลงมากกว่าบัตรเครดิต ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้าระมัดระวังและมีความกังวลในการก่อหนี้ เห็นได้จากว่า แม้ลูกค้าจะมีวงเงินกดเงินสดคงเหลือในบัตร แต่ก็ไม่กดเงินสดออกมาใช้จ่าย อีกส่วนอาจมาจากการปรับรายได้ต่อเดือนจากเดิม 10,000 บาทเป็น 12,000 บาท ทำให้การเข้าถึงบริการลดลง และการพิจารณาอนุมัติวงเงินใหม่ ในช่วงที่ผ่านมา มียอดปฏิเสธประมาณ 30-40%

 

“เราพยายามประคองลูกหนี้รายที่มีปัญหา เพื่อให้เขารักษาเครดิตได้ ขณะเดียวกันก็จัดโปรออกมาดึงยอดใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เลือกชำระเต็ม ส่วนในรายที่เริ่มไม่แน่ใจรายได้ เขาจะเลือกเข้ามาตรการช่วยเหลือทั้งจากธปท.และบริษัทจัดออกมา”

ยอดปฏิเสธบัตรเครดิตพุ่ง 40%

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจควบคู่กัน เพื่อเดินเกมทำธุรกิจให้สามารถเดินไปข้างหน้า เช่น ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด รวมถึงพิจารณาปรับลดค่าติดตามทวงถามและช่วยเหลือลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอด เพราะหากสถานการณ์ดีขึ้นเชื่อว่า บริษัทจะมีลูกค้าให้ความวางใจเลือกใช้บริการอยู่กับบริษัทในระยะยาว

 

นอกจากนั้น บริษัทยังคงร่วมกับพันธมิตรในการจัดแคมเปญเพื่อจูงใจกลุ่มเป้าหมายออกมาใช้จ่าย โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาแม้คนไทยไม่สามารถออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ก็เห็นสัญญาณยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น ด้านแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขณะนี้พูดยาก เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณลูกหนี้ที่จะเลือกแนวทางเข้ารับความช่วยเหลือในมาตรการรอบที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลาถึงสิ้นปีนี้

 

ส่วนมาตรการรวมบัญชีลูกหนี้รายย่อยนั้น หากเป็นการรวมหนี้ในกลุ่มธนาคารเดียวกันสามารถทำได้ง่าย แต่ในส่วนของบริษัทแยกธุรกิจบัตรออกจากพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย จึงต้องดูวิธีปฎิบัติและขั้นตอนโดยส่วนตัวมองว่า หากทำได้สำเร็วโดยรวมลูกหนี้ที่มีปัญหาจะช่วยให้หลุดพ้นจากภาระหนี้ ซึ่งเป็นผลต่อระยะยาว แต่ประเด็น ต้องดูกระบวนการกรองและตั้งรับคนที่ไม่มีปัญหาจะเข้ามาใช้ช่องทางนี้ 

 

ด้านบริษัท อิออนธนสินทรัพย์ ไทยแลนด์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ อัตราเติบโตปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยยอดการอนุมัติลูกค้ารายใหม่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการยกเลิกกิจกรรมทำการตลาด ซึ่งเพิ่งจะเริ่มงานมันนี่เอ็กซ์โปนครราชสีมา แต่ช่วงที่เหลือจะร่วมกิจกรรมราวเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 

 

ทั้งนี้หากพิจารณาไตรมาสแรกอยู่ในภาวะทรงๆ ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทฯ ยังเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากโควิดและภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน เห็นได้จากการพิจารณาอนุมัติลูกค้ารายใหม่มียอดปฎิเสธเฉลี่ย 30-40% แต่บริษัทยังคงรายได้ต่อเดือนลูกค้าบัตรเครดิตไว้ที่ 15,000 ต่อเดือนและ สินเชื่อส่วนบุคคลเน้นกลุ่มรายได้ 8,000 บาทขึ้นไป

 

ทั้งนี้ ไตรมาส 1ปีนี้บริษัทมีรายได้รวมเพิ่ม 3%เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ภาพรวมสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคลหดตัว 4% และ 2%ตามลำดับแต่สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่ออื่นๆขยายตัวเพิ่มขึ้น11% 8%ตามลำดับ

 

“ปีนี้ส่วนใหญ่ให้นํ้าหนักช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะเดียวกันก็พยายามจะทำกิจกรรมกระตุ้นยอดการใช้จ่ายกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ปัจจุบันอิออนมีฐานลูกค้ารวม 9.1ล้านบัตรโดยมีการใช้จ่ายสมํ่าเสมอ 3ล้านบัญชีที่เหลือเราก็จัดกิจกรรมกระตุ้นการใช้จ่ายตามฤดูกาล”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็น “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ”

เช็กที่นี่ปลดหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อผ่อนรายเดือนดอกเบี้ยต่ำ

ไทยพาณิชย์ผนึกชิปป๊อป ลุยสินเชื่อออนไลน์

NMG จ่อล้างขาดทุนสะสม คาดแผนชัดเจนปีหน้า-เตรียมส่งงบหวังปลด‘เอสพี’

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษบกิจ ฉบับที่ 3,606 วันที่ 3 - 5 กันยายน พ.ศ. 2563