นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บางซื่อเป็นเมืองอัจฉริยะ ว่า เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ถือแป็นครั้งแรก วาระส่วนใหญ่จึงเป็นการหารือในประเด็นความคืบหน้าของโครงการทีเกี่ยวข้องกับพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนของ ร.ฟ.ท.ได้รายงานความคืบหน้าส่วนของการเตรียมประกวดราคาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดของการประกวดราคา สถานีกลางบางซื่อ แปลงเอ ขนาดที่ดิน 32 ไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดประกวดราคาไปแล้วแต่ไม่มีเอกชนสนใจยื่นข้อเสนอ จึงได้นำกลับมาเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน (มาร์เก็ตซาวดิ้ง) และเตรียมเปิดประกวดราคาครั้งสุดท้าย ซึ่งขณะนี้เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เพื่อประกาศขายซอง
“ที่ผ่านมาการประกวดราคา สถานีกลางบางซื่อ แปลงเอ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากเอกชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีรางรถไฟคร่อม ทำให้ยากต่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จึงจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาแนวทางควบคู่ โดยเสนอขออนุมัติเพื่อทำการศึกษาเปิดประกวดราคาแปลงเอ ไปพร้อมกับแปลงอี”
ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2562 ซึ่งมีข้อกำหนดให้ ร.ฟ.ท.สามารถเปิดประกวดราคาได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือคณะกรรมการพีพีพี ดังนั้นจะทำให้กระบวนการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า การเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.เพื่อพิจารณาเปิดประกวดราคาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีบางกลางซื่อในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ฝ่ายบริหาร ร.ฟ.ท.จะเสนอไป 2 แนวทาง คือ 1. เดินหน้าเปิดประกวดราคาแปลงเอ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 เพื่อให้การประกวดราคาโครงการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายกำหนด จัดมาร์เก็ตซาวดิ้ง 3 ครั้ง และเปิดประกวดราคาเพื่อดูการตอบรับของภาคเอกชน หากมีเอกชนยื่นข้อเสนอก็เดินหน้าโครงการได้ตามแผนเดิมกำหนด และ 2.เสนอขอศึกษาจัดทำรายละเอียดประกวดราคาพื้นที่แปลงเอ และแปลงอี ไปพร้อมกัน ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 เพื่อทำให้การประกวดราคาเดินหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ ร.ฟ.ท.ประเมินว่าจะได้รับการตอบรับจากเอกชนเข้าร่วมทุนอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่แปลงอี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ขนาดที่ดินกว่า 79 ไร่ โดยพื้นที่อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ รองรับการพัฒนาลักษณะมิกส์ยูส
“หากรวมสัญญาประมูลในส่วนของแปลงเอ และแปลงอี เชื่อว่าเอกชนจะตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแปลงอี การรถไฟฯ ประเมินว่าจะได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐเข้าไปพัฒนาสำนักงานจำนวนมาก โมเดลที่เหมาะสมจะคล้ายกับศูนย์ราชการ ที่มีคอมมูนิตี้ผสมผสานกับสำนักงานภาครัฐ ส่วนแปลงเอก็จะกลายเป็นสำนักงานของการรถไฟ”
อย่างไรก็ตามความคืบหน้าของโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สอดรับต่อการเดินทาง ส่วนระบบและโครงข่ายการคมนาคม จะมีการพัฒนาภายหลังการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันศึกษาแผนและประเมินความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มทำการศึกษาในช่วงสิ้นปีนี้