ภายหลังจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐออกมาตรการพักชำระหนี้ต่างๆ ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ถูกจับตามองถึงหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงมีแผนในการดูแลลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ธนาคารพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้สินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยและเอสเอ็มอีนั้น ธนาคารได้เริ่มดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนกำหนดให้แก่ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการเป็นหนี้เสียภายหลังจากสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้
โดยปัจจุบันลูกหนี้ที่เข้าสู่โครงการพักชำระหนี้นั้น มีอยู่เกือบ 100% ของลูกค้าสินเชื่อทั้งหมด หรือประมาณ 3.28 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 9.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ธนาคารได้ทยอยดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท จากระยะเวลาสิ้นสุดการพักชำระหนี้รอบสุดท้ายนั้นคือ ต้นปี 2565
ขณะที่เอสเอ็มอีเกษตรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้มีประมาณ 2.6 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 8.1 หมื่นล้านบาทซึ่งในส่วนนี้จะสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้ประมาณเดือน ก.ย. แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้ผ่อนปรนขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้
“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.พื้นที่ ได้ทยอยลงไปคุยกับลูกค้า เพื่อดูสุขภาพการเงินของลูกค้า หากรายใดยังไม่ดี หรือมองเห็นว่ายังไม่มีความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ แบงก์ก็จะทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้แล้ว ระดับหนี้เสียเราจะไม่เพิ่มมากนัก”นายอภิรมย์ กล่าว
ทั้งนี้ระดับหนี้เสียของธ.ก.ส.ในปัจจุบันอยู่ที่ 4.03% ของสินเชื่อคงค้างที่ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากต้นปีบัญชีในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.3% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการพักชำระหนี้ และแม้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าสู่โครงการพักหนี้ แต่ก็มีลูกค้าส่วนหนึ่งที่ยังชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปีบัญชี มียอดชำระหนี้เงินต้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 30%
สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ในปีบัญชี 2563 นี้ ธนาคารได้ปรับเป้าหมายลดลงจาก 6 แสนล้านบาท เหลือ 3.7 แสนล้านบาท สาเหตุหลักจากสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเชื่อว่าทั้งปีจะปล่อยได้ตามเป้าหมายแน่นอน
ขณะที่ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคาอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ไม่ห่วงต่อสถานการณ์หนี้เสียที่จะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการสุดท้ายในช่วงเดือนม.ค.2564 เนื่องจากลูกค้าสินเชื่อบ้านของธอส.ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มียอดการชำระหนี้ต่อเดือนไม่สูงมาก ต่างจากสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ต่างๆ และที่ผ่านมาธอส.ได้พักชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยให้ ขณะเดียวกันสินเชื่อบ้านก็เป็นสินเชื่ออันดับแรกที่ลูกค้าต้องรักษาไว้ จึงเชื่อว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการลูกค้าจะสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ยกเว้นลูกค้าจะถูกเลิกจ้าง
“ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ระดับหนี้เสียของธนาคารจะเป็นอย่างไร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผ่านการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยจำนวนหลายมาตรการนั้น มาตรการแรกจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งจะมีลูกค้าจำนวนประมาณ 1 แสนรายจากทั้งหมด 4.1 แสนรายที่จะต้องออกจากมาตรการ ดังนั้น ในเดือนถัดไปที่เป็นรอบการชำระหนี้ เราจึงจะพอประเมินสถานการณ์หนี้เสียได้ แต่เราจะมีระยะเวลาประมาณ 60 วัน หลังสิ้นสุดการพักชำระหนี้ เพื่อติดต่อกับลูกค้า ถ้าเขาไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ เราจะทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้”นายฉัตรชัยกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดมาตรการแรกในสิ้นเดือนส.ค.นี้แล้ว มาตรการที่ถัดไป จะสิ้นสุดในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งจะมีลูกค้าในกลุ่มนี้ประมาณ 1.7 แสนราย หรือเกือบ 40% จากนั้น มาตรการทั้งหมดจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนม.ค.2564