“หัวเว่ย”เปิดโรดแมปเทคโนโลยีอัจฉริยะนักพัฒนา

11 ก.ย. 2563 | 08:21 น.

หัวเว่ย เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่สำหรับนักพัฒนา ยกระดับประสบการณ์อัจฉริยะที่ “มากกว่า” ครอบคลุมทุกการใช้งาน

กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย, 11 กันยายน 2563 - งานประชุม Huawei Developer Conference 2020 (Together) เริ่มขึ้นแล้ววันนี้ ณ ทะเลสาบซงซาน มณฑลกว่างตง ประเทศจีน และในขณะเดียวกัน หัวเว่ย โมบาย ประเทศไทย ก็ได้จัดงาน watch party สำหรับนักพัฒนาชาวไทยและพาร์ทเนอร์ของหัวเว่ยที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

หัวเว่ยได้ประกาศการอัพเดตครั้งสำคัญหลายประการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ บนเวที สำหรับ HarmonyOS 2.0, EMUI 11, HMS (Huawei Mobile Services), HUAWEI HiLink และ HUAWEI Research ซึ่งการพัฒนาโซลูชันเหล่านี้จะเสริมสร้างศักยภาพให้นักพัฒนาทั่วโลกและพาร์ทเนอร์ร่วมอีโคซิสเต็ม ให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่สร้างสรรค์และเหนือระดับไปอีกขั้นให้กับผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในงานถึง 6 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งล้วนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้งานที่ครอบคลุมทุกสถานการณ์ของหัวเว่ย อันได้แก่ HUAWEI MateBook X, HUAWEI MateBook 14, HUAWEI WATCH GT 2 Pro, HUAWEI WATCH FIT, HUAWEI FreeBuds Pro และ HUAWEI FreeLace Pro

ตลอดระยะเวลาสามวันของงาน นักพัฒนาจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันผ่านหลากหลายกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นของหัวเว่ย ไม่ว่าจะเป็นเวทีเสวนา Lakeside Talks, Tech. Sessions, Tech. Hour, Codelabs และอื่นๆ อีกมากมาย โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้พูดคุยสร้างเครือข่าย ทำงานร่วมกัน และร่วมสำรวจแนวทางต่างๆ เพื่อมอบประสบการณ์อัจฉริยะที่ครอบคลุมทุกสถานการณ์ให้กับผู้ใช้ทุกคน

“หัวเว่ย”เปิดโรดแมปเทคโนโลยีอัจฉริยะนักพัฒนา

“ความก้าวหน้าของหัวเว่ยในการพัฒนาอีโคซิสเต็มเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากนักพัฒนาและพาร์ทเนอร์ทั่วโลก หัวเว่ยจะเปิดกว้างเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ รวมถึงศักยภาพของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้กับนักพัฒนาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับพวกเขาเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมในอีโคซิสเต็มอัจฉริยะที่ครอบคลุมทุกสถานการณ์ให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น” ริชาร์ด หยู (Richard Yu) กรรมการบริหารและซีอีโอ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าว “ดวงดาวยังส่องสว่างแม้ในค่ำคืนอันมืดมิดที่สุด นักพัฒนาทุกๆ คนล้วนเป็นเสมือนดวงดาว ซึ่งเมื่อรวมตัวกันก็จะเกิดเป็นรัศมีที่เปล่งกระกาย และจะส่องสว่างนำทางให้เรา”

HarmonyOS 2.0พร้อมเปิดให้นักพัฒนาสิ้นปีนี้

หัวเว่ยได้ประกาศเปิดตัว HarmonyOS ระบบปฏิบัติการสำหรับการใช้งานที่ครอบคลุมทุกสถานการณ์ไปเมื่อปี 2019  นับตั้งแต่นั้นมาก็มีอุปกรณ์อีกมากมายที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับระบบดังกล่าว ช่วยให้ค้นหาอุปกรณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เชื่อมต่อทันทีทันใด เกิดการทำงานร่วมกันของฮาร์ดแวร์ และเกิดการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างสมาร์ทดีไวซ์หลายชิ้น วันนี้หัวเว่ยได้ประกาศเปิดตัว HarmonyOS 2.0 โดยเป็นการอัปเกรดศักยภาพที่มีอยู่เดิมอย่างรอบด้าน ซึ่งรวมถึงระบบส่งข้อมูลข้ามกันระหว่างซอฟต์แวร์ การจัดการข้อมูล และความปลอดภัย พร้อมกันนี้หัวเว่ยยังเปิดตัวกรอบความร่วมมือ UX (User Experience) ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ใหม่และผู้ใช้ใหม่จำนวนหลายสิบล้านได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยการอัพเดตครั้งล่าสุดนี้ ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จะกลายเป็น “โอเพนซอร์ซ” อย่างเป็นทางการ และนักพัฒนาจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงโปรแกรมจำลองโทรศัพท์มือถือ (emulator)  ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ (SDK)  และเครื่องมือ IDE ที่ช่วยในการพัฒนาโปรแกรม ทั้งนี้ โครงการโอเพนซอร์ซซึ่งบริจาคให้กับมูลนิธิ OpenAtom จะเปิดตัวพร้อมกับ HarmonyOS รุ่นเบต้าสำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเบื้องต้นมีกำหนดว่าจะเปิดให้นักพัฒนาจีนก่อนในช่วงสิ้นปี 2020

นอกจากนี้ ริชาร์ด หยู ยังได้ประกาศแผนธุรกิจของ HarmonyOS ระหว่างกล่าวบนเวทีว่า “ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนนี้เป็นต้นไป ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จะเปิดให้ใช้งานสำหรับอุปกรณ์ IoT ที่มีหน่วยความจำ 128 กิโลไบต์ -128 เมกะไบต์ เช่น สมาร์ททีวี สมาร์ทดีไวซ์สำหรับสวมใส่ (wearable) รถยนต์ เป็นต้น จากนั้นในเดือนเมษายน 2021 เราจะเปิดให้กับอุปกรณ์ที่มีหน่วยความจำ 128 เมกะไบต์ – 4 กิกะไบต์ และในเดือนตุลาคม 2021 ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จะเปิดให้ใช้งานสำหรับอุปกรณ์ที่มีหน่วยความจำมากกว่า 4 กิกะไบต์ ขึ้นไป”

ด้วยการทำงานได้บนหลายอุปกรณ์และหลายชิปประมวลผลพร้อมกันในระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ด้วยซอฟต์แวร์ EMUI 11 ที่ปล่อยออกมาใหม่นี้จะยกระดับการตอบสนองระหว่างดีไวซ์ให้เป็นได้มากกว่าแค่สมาร์ทโฟน โดยจะทำให้สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ สามารถตอบสนองกับอุปกรณ์ IoT ที่ใช้ HarmonyOS ได้ ทำให้ผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ครอบคลุมทุกสถานการณ์และโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อย่างการวิดีโอคอลด้วยกล้องของดีไวซ์อื่นที่จอใหญ่กว่า เช่น จากโดรนหรือสมาร์ทวิชั่น (โทรทัศน์) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมต่อแบบไร้สัมผัสระหว่างสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ใช้ HarmonyOS ทำให้การฉายภาพขึ้นจอและการใช้งานอื่นๆ เป็นไปได้

(HMS) Ecosystemสร้างสถิติขึ้นอันดับ 3 โลก

HMS (Huawei Mobile Services) และ AppGallery เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ ด้วยแรงผลักดันจากผลงานของกว่า 1.8 ล้านนักพัฒนาทั่วโลก ปัจจุบัน HUAWEI AppGallery มีแอปพลิเคชันทั้งหมดรวมแล้วกว่า 96,000 แอพ ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม HMS Core และมีผู้ใช้งานประจำกว่า 490 ล้านรายทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีการดาวน์โหลด และใช้งานกว่า 2.61 แสนล้านครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2020

ภายในหนึ่งปี ส่วนหลักของแพลตฟอร์ม HMS Core 5.0 ที่นักพัฒนาสามารถเข้าถึงได้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 14 ชุด เป็น 56 ชุด และจำนวนของ APIs ได้ก้าวกระโดดจาก 885 ชุด เป็นจำนวนถึง 12,981 ชุด ครอบคลุม 7 ด้านหลัก ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างนวัตกรรม และทำให้กระบวนการพัฒนาง่ายมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ชุดซีจี (CG Kit) ในบริการด้านกราฟิกที่ช่วยพัฒนางานกราฟิก คุณภาพของภาพ และประสบการณ์การรับชมภาพไปพร้อมกับการยกระดับประสิทธิภาพการแสดงผลในการเล่นเกม ชุดโลเคชั่น (Location Kit) ในประเภท App Services สามารถระบุตำแหน่งในระดับเซนติเมตรถึงมิลลิเมตรได้ถูกต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ใช้งาน

หัวเว่ยยังคงมุ่งมั่นที่จะเปิดให้เข้าถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์หลักบนแพลตฟอร์มอย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีส่วนซอฟต์แวร์หลักที่เปิดให้ใช้งานแล้ว ได้แก่ เบราเซอร์ การค้นหา แผนที่ การชำระเงิน และการโฆษณา เพื่อเร่งการเติบโตของนวัตกรรมในการพัฒนาแอปฯ นอกจากนั้นหัวเว่ยยังเปิดให้นักพัฒนาได้เข้าถึงส่วนฮาร์ดแวร์ ทั้งกล้องมาตรฐานระดับโลก แผนที่ AR เครื่องมือสื่อสารและรับ-ส่งสัญญาณ รวมไปถึงระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว จากการเปิดให้เข้าถึงส่วนหลักของแพลตฟอร์มเหล่านี้ หัวเว่ยมีความตั้งใจจะสนับสนุนให้นักพัฒนาคิดค้นแอปพลิเคชันยุคใหม่ที่จะสร้างความแตกต่างและได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค

นอกจากนี้หัวเว่ยยังได้มีการขยายการสนับสนุนออกไปในวงกว้าง เพื่อช่วยให้นักพัฒนาสามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจทั้งในตลาดจีนและตลาดอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีบริการให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบการจัดการแบบท้องถิ่น (Localization) และแบบบูรณาการ (Integration) รวมถึงการให้บริการด้านการตลาดและแคมเปญ

นับจากนี้หัวเว่ยยังคงขยายการให้บริการสำหรับนักพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยหัวเว่ยกำลังสร้างห้องปฏิบัติการระดับโลกเพื่อสร้างความร่วมมือด้านอีโคซิสเต็มจำนวน 3 แห่ง ในประเทศรัสเซีย โปแลนด์ และเยอรมนี เพื่อเปิดให้นักพัฒนาจากทั่วโลกใช้งาน ทดสอบ และให้บริการในด้านการรับรองระบบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักพัฒนาระดับโลกอีก 5 แห่งในประเทศโรมาเนีย มาเลเซีย อียิปต์ เม็กซิโก และรัสเซีย โดยให้บริการระบบในท้องถิ่น และแพลตฟอร์มที่จัดตั้งภายในประเทศเพื่อช่วยให้นักพัฒนาสามารถเติบโตและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

HUAWEI HiLink: บุกเบิกเชื่อมต่อ IoT

HiLink คือระบบที่ทำลายกำแพงระหว่างอุปกรณ์ IoT โดยทำหน้าที่เป็นภาษากลาง สร้างแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างง่ายดาย และมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างไร้รอยต่อ

ในปี 2020 นี้ HUAWEI HiLink จะได้รับการพัฒนาใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การเชื่อมต่อ การปฏิสัมพันธ์ การปฏิบัติการ การบริการโซลูชั่น และการยืนยันตัวตน เป้าหมายคือการให้อุปกรณ์ IoT กว่าพันล้านชิ้นเชื่อมต่อกันได้ง่ายมากขึ้น สามารถจัดการและควบคุมได้สะดวกมากขึ้น และทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของฮาร์ดแวร์สำหรับทุกสถานการณ์ จนถึงวันนี้ ผู้ใช้งานประจำ 50 ล้านรายได้ช่วยสร้างการใช้งานระหว่างอุปกรณ์กว่า 1 พันล้านครั้ง โดยมียอดดาวน์โหลดแอปฯ Smart Life รวมกว่า 400 ล้านครั้ง

รถยนต์เองก็เป็นหนึ่งในสาขาหลักของอุตสาหกรรม IoT แพลตฟอร์ม HiCar จะยังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไปในอนาคต ทุกวันนี้ HiCar ร่วมมือกับรถกว่า 150 รุ่น เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของรถได้สนุกกับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบอัจฉริยะในอนาคตอันใกล้

หัวเว่ยมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตของอีโคซิสเต็มฮาร์ดแวร์ IoT โดยทุ่มเทกำลังให้การพัฒนา IoT ให้เป็นไปได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสร้างอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่สามารถใช้แพลตฟอร์ม HiLink ได้ ทำให้หัวเว่ยสามารถสนับสนุนคู่ค้าทางธุรกิจให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม IoT ได้

HUAWEI Research: นวัตกรรม “แพลตฟอร์มการค้นคว้า” เพื่อโลกอนาคต

การวิจัยของหัวเว่ยมุ่งเน้นไปที่การวิจัยตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีแพลตฟอร์มหลักสองส่วน ประกอบไปด้วย HUAWEI Research Kit และ HUAWEI Research Cloud สองสิ่งนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการวิจัยเชิงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และเร่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมบ่มเพาะนวัตกรรมการพัฒนาแอพ รวมถึงบรรลุการเปลี่ยนแปลงทางผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้การทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันนวัตกรรม องค์กรอุตสาหกรรม สถาบันทางการแพทย์ และพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญให้อุตสาหกรรมจากทุกภาคส่วนประสบความสำเร็จ

ในด้านสุขภาพ (Active Health Field) หัวเว่ยช่วยในการวิจัยสุขภาพหัวใจ โดยมีการตรวจสอบว่าข้อมูลการวิจัยด้านสุขภาพที่รวบรวมมานั้นถูกต้องและมีความหลากหลาย ส่วนด้านความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง (Travel Safety Field) โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ จะทำงานร่วมกันอย่างชาญฉลาดกับตัวรถยนต์ เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีการขับขี่ที่ปลอดภัยใหม่ๆ เช่น ระบบหลีกเลี่ยงการชนและการดูแลความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ ขณะที่เวลาอยู่บ้าน (Home Life Field) หัวเว่ยจะใช้ความสามารถในการตรวจจับแบบไร้สายที่เชื่อมต่อกับหลายอุปกรณ์ โดยมีฟีเจอร์ที่คอยอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ การตรวจจับการล้ม ตรวจสอบความผิดปกติในการหายใจ และยังสามารถระบุตำแหน่งเชิงพื้นที่ได้อีกด้วย

หัวเว่ยยังคงขับเคลื่อนระบบอีโคซิสเต็มทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปิดกว้างทางเทคโนโลยี และขยายประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถให้กับนักพัฒนาและพันธมิตรทั่วโลกเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกัน

 

ในประเทศไทย วันนี้หัวเว่ยได้รับเกียรติจากนักพัฒนาและพาร์ทเนอร์ของหัวเว่ยราว 110 คนมาร่วมงาน Huawei Developer Conference 2020 โดยมีนาย ณภัทร รัตนปิณฑะ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอีโคซิสเต็ม หัวเว่ย ประเทศไทย มาให้ข้อมูลความคืบหน้าของธุรกิจคอนซูมเมอร์ของหัวเว่ยประเทศไทย  นายมินทร์ อัศวโชค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวิศวกรรมเทคนิค หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดกลยุทธ์การพัฒนา HarmonyOS และ HMS 5.0 ในประเทศไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันฐานผู้ใช้ AppGallery ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ หัวเว่ยได้มีส่วนช่วยให้พาร์ทเนอร์ประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วยการขยายฐานผู้ใช้แอพพลิเคชัน เช่น LINE MAN และ Wongnai คือตัวอย่างแอปพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จ