นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ว่า ปัจจุบันความคืบหน้าการพัฒนาโครงการในภาพรวมไปแล้วกว่า 50% โดยเฉพาะในระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะสามารถเปิดให้บริการได้ในส่วนของเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ หลังเปิดให้บริการครบ 100 % เชื่อว่านิคมฯแห่งนี้ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ขณะเดียวกันจะสามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย
สำหรับนิคมดังกล่าวมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ คือ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทาง R12, R9 และ R8 อยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มีศูนย์กระจายสินค้าทางรางและศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ อยู่ติดกับเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ขณะเดียวกัน เพื่อให้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี สามารถให้บริการแก่นักลงทุนและจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน จึงได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เช่น การศึกษาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดอุดรธานี, พัฒนาระบบการเดินรถไฟจากสถานีหนองตะไก้เข้ามายังพื้นที่โครงการ 1.8 กิโลเมตร
รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ให้เทียบเท่ากับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่อีอีซี โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตในพื้นที่
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมฯแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 ที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ โดยนิคมฯแห่งนี้ ถือได้ว่ามีความได้เปรียบในแง่ของการขนส่งสินค้าได้อย่างดี เนื่องจากมีพื้นที่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพียง 14 กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนนทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพประมาณ 2 กิโลเมตร ขณะที่ทางทิศใต้อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพ-หนองคาย มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ที่อยู่ห่างชายแดนจากด่านหนองคาย 53 กิโลเมตร โดยสามารถเชื่อมต่อเศรษฐกิจการค้า ขนส่งสินค้า และกระจายสินค้าผ่านไปทางกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ได้อย่างสะดวก
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนานิคมฯเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ ทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานียังมีแผนการพัฒนาระบบ Logistics ของนิคมฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (2563-2565) จะทำเป็นอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดน มีการขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรและพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการ Tuck Terminal และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางรางโดยเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้ ส่วนระยที่ 2 (2565-2568) จะพัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองอุตสาหกรรมตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งแบบ Freight Forwarder อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาคขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กับ ประเทศลาว กัมพูชา และจีนมากขึ้น
“นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี พื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 1,635 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนโครงการฯ ประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมี 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่ขายจริง 700 ไร่ ที่เหลือเป็นระบบสาธารณูปโภค และเฟส 2 มี 1,000 ไร่”
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี 2557 ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้กับคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริบทพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ในการมีช่องทางการประกอบอาชีพในถิ่นเกิดโดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด