“สิทธิบัตรทอง” หรือ “สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตลอดช่วงชีวิตโดยจะต้องลงทะเบียนไว้กับสถานพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการรักษาซึ่งทั่วไปมักจะเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน ล่าสุดได้ยกเลิกเก็บ 30 บาทในกลุ่มผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ใช้สิทธิบัตรทองกับสถานพยาบาลอยู่คนละพื้นที่ สามารถใช้สิทธิบัตรทองแบบฉุกเฉินกับสถานพยาบาลนอกเขตพื้นที่ได้ แต่ถ้าเจ็บป่วยทั่วไปใช้สิทธิข้ามเขตต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
สำหรับ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้บัตรทอง มีดังต่อไปนี้
1.เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2.มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
3.ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ เช่น
-ผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไปยกเว้น ลูกจ้างทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย หรือลูกจ้างของบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
-ผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ และครอบครัว
-ผู้อยู่ในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ ครูโรงเรียนเอกชนในระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4 ขั้นตอนย้ายสิทธิบัตรทองได้ด้วยตนเอง
เช็กที่นี่วิธีตรวจสอบ “สิทธิบัตรทอง” ด้วยตนเอง
“อนุทิน” ขอเพิ่มงบ 1.4 หมื่นล้าน ยกระดับ “บัตรทอง”
ผ่ากองทุนบัตรทอง1.4 แสนล้าน ไขปริศนาปมตัดงบบรรจุข้าราชการใหม่
หลักฐานในการสมัคร "บัตรทอง" ประกอบด้วย
1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีใช้สำเนาใบสูติบัตร (ใบเกิด) แทน
2.สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ขอมีชื่ออยู่ กรณีพักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงตามทะเบียนบ้านจะต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่ตนไปพักอาศัยอยู่ พร้อมหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หากเป็นบ้านเช่า หรือ หอพัก
3.หลักฐานอื่่นๆ เช่น สัญญาเช่าที่พัก ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่พัก ใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์บ้านที่แสดงว่า ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นจริง
4.แบบคำร้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า/ขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดต่อขอทำบัตรทองได้ที่
1.สำนักงานเขต 19 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย คลองสามวา คลองเตย ธนบุรี บางกะปิ บางขุนเทียน บางพลัด บางแค ประเวศ พระโขนง มีนบุรี ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ ลาดกระบัง ลาดพร้าว สายไหม หนองจอก หนองแขม หลักสี่ และห้วยขวาง เปิดให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00- 16.00 น.
2.สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 19.00 น. วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยสามารถแจ้งขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้
3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้ง 3 สาขา ได้แก่ 1.สาขาย่อยหมอชิต 2 เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 19.00 น. 2.สาขาย่อยตลาดยิ่งเจริญ เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.30 – 16.30 น. และ 3.สาขาย่อยวัดไทร เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 15.30 น. ซึ่งทั้ง 3 สาขานี้สามารถแจ้งขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้
4.ธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ระยะเวลาการเปิดให้บริการ ยังไม่มีกำหนดปิด วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 15.30 น. ท่านสามารถแจ้งขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้
สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ติดต่อลงทะเบียนทำบัตรได้ที่
1.สถานีอนามัย
2.โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้าน
3.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
เปิดให้บริการในวันจันทร์- ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น.