อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด เปิดตัวโมเดล New Manufacturing หรือระบบการผลิตแบบใหม่ เป็นครั้งแรก โรงงานแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ในเมืองหังโจวและใช้โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลคลาวด์และอินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) ของอาลีบาบา ซึ่งมีระบบซัพพลายเชนในกระบวนการผลิตที่เป็นดิจิทัล ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนตามปริมาณการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านปริมาณ ทำให้ธุรกิจและผู้ผลิตโดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีและเร็วขึ้น รวมทั้งคว้าโอกาสในตลาดการผลิตของจีนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ด้วยมูลค่าตลาดมากกว่า 30 ล้านล้านหยวน (มากกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 124 ล้านล้านบาท)
อลัน วู ซีอีโอ บริษัท ชุนฉี ดิจิทัล เทคโนโลยี ของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า “ดาต้า หรือข้อมูล เป็นหัวใจสำคัญของ New Manufacturing เพราะความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากขึ้น และมองหาสินค้าเฉพาะบุคคล มากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละมากๆ อย่างในอดีต โมเดล New Manufacturing จะช่วยเหลือผู้ผลิตแบบดั้งเดิมให้สามารถใช้โมเดลการผลิตที่ยืดหยุ่นตามความต้องการซื้อได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล ทำให้ผู้ผลิตแบบดั้งเดิมสามารถทำกำไรและบริหารจัดการจำนวนสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะบุคคลของผู้บริโภคได้”
การเปิดตัว New Manufacturing เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในกลยุทธ์ “Five New” หรือความใหม่ 5 ประการของอาลีบาบา ที่ผู้ก่อตั้งคือแจ็ค หม่า เคยประกาศเอาไว้เมื่อปี 2559 ซึ่งประกอบด้วย New Retail, New Manufacturing, New Finance, New Technology และ New Energy
ในระยะแรก สินค้าที่จะผลิตที่ชุนฉีคือเครื่องแต่งกาย ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีสายการผลิตยาวและมีการสต็อกสินค้าสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมายาวนานสำหรับผู้ผลิตทั้งรายเล็กและรายใหญ่ การนำเทคโนโลยีใหม่แบบเรียลไทม์มาใช้ ทั้งด้านการหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การวางแผนค่าใช้จ่าย โลจิสติกส์อัตโนมัติแบบอินเฮาส์ และระบบปฏิบัติการของชุนฉีจะทำให้โรงงานต่างๆ สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อจำนวนไม่มากได้ ด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผลและส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้น จึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ตั้งแต่ 25% จนถึง 55% โดยเฉลี่ย
นอกจากนี้ ชุนฉียังใช้โมเดลการวิเคราะห์เทรนด์และยอดขาย ควบคู่ไปกับแพลทฟอร์มการออกแบบสินค้าที่นำปัญญาประดิษฐ์ของตนเองเข้ามาใช้ ทำให้ผู้ผลิตมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความนิยมของลูกค้า ระบบข้อมูลที่ดีขึ้นนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา และทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าเฉพาะบุคคลให้กับลูกค้า ไม่ให้พลาดโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
เครื่องแต่งกายถือเป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาดซื้อขายของอาลีบาบาในจีน ดังนั้นอาลีบาบาจึงมีข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่นำมาสร้างความได้เปรียบในโมเดลนี้ได้อย่างมาก ในอดีตสินค้าที่ผลิตเกินความต้องการทำให้ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น 30% โดยเฉลี่ยทั้งอุตสาหกรรม
การที่อาลีบาบานำโมเดลนำร่องซุนสีมาใช้ ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ทุกคนสามารถทำธุรกิจได้จากทุกที่ การยกระดับการผลิต made-in-cloud จะช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันได้ในตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว
นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โรงงานแห่งนี้ได้ทำงานร่วมกับ ผู้ขาย นักจัดรายการผ่านไลฟ์สตีม และดีไซเนอร์แนวสตรีทแวร์ ของเถาเป่าและทีมอลล์ ในการค้นหาและทดลองโอกาสใหม่ๆ ด้านการผลิตสินค้าเครื่องแต่งกาย
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ได้แต่งตั้งให้โรงงานดิจิทัลชุนฉีเป็นหนึ่งใน Lighthouse ภายใต้เครือข่าย Global Lighthouse Network ซึ่งเป็นชุมชนของบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยี Fourth Industrial Revolution มาใช้ในการผลิตได้จริง การแต่งตั้งดังกล่าวแสดงถึงการยอมรับในความสำเร็จของชุนฉีในการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทรงพลัง เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค และนำโมเดล New Manufacturing แบบดิจิทัลเต็มรูปแบบมาใช้ได้จริง
การเปิดตัวชุนฉีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวไปสู่ดิจิทัล ในอนาคตโรงงานดิจิทัลซุนสีจะช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตเครื่องแต่งกายในการลดจำนวนสินค้าคงคลัง ในขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ในอนาคตโครงการนี้จะขยายการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย โดยอลัน วู กล่าวว่า “เราหวังว่าจะได้เรียนรู้และทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอีโคซิสเท็มของ New Manufacturing ร่วมกัน