ยังมีกระแสการต่อต้านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ที่จะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป โดยเฉพาะทางสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA คัดค้านอย่างหัวชนฝา กับแนวทางการแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ว่าด้วยการส่งเสริมและผลักดันนโยบายการทำธุรกรรมออนไลน์ (สื่ออิเล็กทรอนิกส์) ในการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า
ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เพราะหากจะป้องกันการเข้าการถึงได้ง่ายของเด็กและเยาวชน ควรจะมีการจำกัดอายุของเยาวชน และกำหนดช่วงเวลาการซื้อขาย มากกว่าการกำจัดหรือสั่งห้ามทางออนไลน์
นอกจากนี้ ปัญหาที่แท้จริงของการขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ เป็นเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนีภาษี หรือสินค้าผิดกฎหมายวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะหันมากำจัดและป้องกันมากกว่า และการห้ามจำหน่ายทางออนไลน์ดังกล่าว จะส่งผลต่อภาคแรงงานในระบบที่ต้องตกงานจากการยกเลิกแผนงานในส่วนของออนไลน์ไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งสินค้า พนักงานไอที บุคลากรภายในองค์กร ที่ผู้ประกอบการหลายรายได้วางแผนงานในส่วนของออนไลน์ไว้แล้ว และหันมาโฟกัสการทำตลาดที่ช่องทางออฟไลน์แทน 100% เพื่อรองรับกับกฎหมายที่ออกมา
TABBA สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเป็นอย่างมาก ที่ปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดจะหายไปราว 30-40% หรือราว 1.1-1.48 แสนล้านบาท จากที่ตลาดที่มีเคยมีมูลค่าราว 3.7 แสนล้านบาท เหลือเพียงราว 2.2-2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น หากผลทางกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์มีผลใช้บังคับ คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดรวมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปีนี้ปรับลดลงอีก และต่อเนื่องถึงปีหน้าที่ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยุติลงได้เมื่อใด ซึ่งหมายถึงตลาดแอลกอฮอล์จะยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และเมื่อถูกห้ามขายทางออนไลน์ด้วยแล้ว จะเป็นการซ้ำเติมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งไปอีก หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขึ้นมาแล้ว
ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นกลุ่มผู้นำเข้าสุราต่างประเทศ รองลงมาเป็นกลุ่มไวน์ และคราฟท์เบียร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเข้า ขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ที่ไม่มีหน้าร้าน เน้นขายผ่านออนไลน์ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าการวางขายผ่านคอนวีเนียนสโตร์หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งทำให้ปรับตัวลำบาก และหาช่องทางใหม่ๆ ยากขึ้น และการเข้าคอนวีเนียนสโตร์ จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขายแพงขึ้น จนไม่มีกลุ่มที่ซื้อและอยู่ในท้องตลาดไม่ได้ในที่สุด
ทั้งนี้ นับจากปี 2557 เป็นต้นมา ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสุราและเบียร์ ทำให้เบียร์และสุรานำเข้าเสียภาษีเพิ่มขึ้น 20-25% ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเบียร์ ปรับราคาเพิ่มขึ้น 10-15% สุราขาว 10% สุราสี 25% กระทบต่อยอดขายเบียร์มีปริมาณลดลง 2.2% ขณะที่สุราเพิ่มขึ้น 0.8%
หลังจากนั้นในปี 2560 มีการปรับโครงสร้างภาษีสุราและเบียร์อีกครั้ง โดยใช้ระบบผสม เก็บตามมูลค่าบวกปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (ดีกรี) ทำให้ราคาขายปลีกของเบียร์ระดับล่างปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่เบียร์ระดับบน (พรีเมี่ยม) ปรับราคาลง แต่ภาพรวมตลาดเบียร์โดยรวมยังคงทรงตัว (เพราะตลาดเบียร์พรีเมี่ยมมีสัดส่วนเล็กน้อย) ขณะที่ตลาดสุรา กลุ่มสุราขาวปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ส่วนสุราสี ปรับราคาขึ้นเกือบ 20% ซึ่งได้ส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่ผู้ประกอบการ มองเวลานี้ ในการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย รัฐบาลควรจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่เป็นการห้ามจำหน่าย เพราะการขายผ่านออนไลน์ จะมีกระบวนการและขั้นตอนวิธีการขาย ไม่ว่าจะเป็นการกรอกแบบฟอร์ม การกรอกแบบสอบถาม เพื่อตรวจสอบว่าผู้ที่สั่งซื้อเป็นใคร ป้องกันผู้ซื้อที่มีอายุตํ่ากว่า 20 ปีได้
การผ่อนปรนให้ผู้ค้ามีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิดได้ และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ลดการเดินทางในการซื้อหาสินค้า รัฐบาลอาจจะกำหนดให้ขายทางออนไลน์เป็นช่วงเวลาขึ้นมา หรือกำหนดช่วงระยะเวลาที่จะส่งสินค้าขึ้นมา น่าจะเป็นทางออกสำหรับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านออนไลน์ได้ อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง และยังช่วยรัฐเก็บภาษีสรรพสามิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วย