นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ล่าสุดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) มีแผนขยายการสร้างความมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการขอความร่วมมือจากสำนักข่าว เนื่องจากเป็นช่องทางที่ใกล้ชิดกับ “ผู้บริโภคสื่อ” และได้รับความเชื่อถือจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว สามารถเป็นช่องทางและเครือข่ายที่มีพลังในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการดำเนินงานการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมว่า จากการรับแจ้งข้อมูลข่าวผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ ตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 - 23 ก.ย. 63 มีจำนวนข้อความที่เข้ามา 17,255,640 ข้อความ โดยมีข้อความที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน จำนวน 18,479 ข้อความ ทั้งนี้จากการคัดกรองพบว่ามีข้อความที่ต้องตรวจสอบ 6,411 เรื่อง แบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ กลุ่มข่าวสุขภาพ 3,539 เรื่อง กลุ่มข่าวนโยบายรัฐบาล 2,499 เรื่อง กลุ่มข่าวภัยพิบัติ 125 เรื่อง และกลุ่มข่าวเศรษฐกิจการเงิน 248 เรื่อง ตามลำดับ
ปัจจุบัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีช่องทางสื่อสารและรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนทั่วไป ครอบคลุมทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ 6 ช่องทาง ได้แก่ 1. เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com มียอดผู้เข้าชม 3,475,136 ครั้ง 2. เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center มีผู้ติดตาม 65,232 ราย 3. ทวิตเตอร์ @AfncThailand มียอดผู้ติดตาม 6,988 รายชื่อ 4. บัญชีไลน์ทางการ Line@antifakenewscenter มีจำนวนผู้ติดตาม1,408,159 ราย 5. ศูนย์รับแจ้งข่าวปลอม (สป.ดศ.) และ 6. สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายผู้ประสานงานภาครัฐ องค์กรอิสระ เพื่อดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จำนวนไม่น้อยกว่า 400 คน ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม