อเมริกาตื่นแผนไทยเตรียมยกระดับ SEC เป็น"แลนด์บริดจ์"ใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่สถานทูตลงพื้นที่ระนอง จับเข่าคุยผู้บริหารภาครัฐ-เอกชน “รัชดา” ชี้ SEC ไม่สะดุด เร่งศึกษาโครงข่ายคมนาคมหลากรูปแบบเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน คาดเป็นทางเลือกแทนการขุดคลองไทยทะลุคาบสมุทร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 23 กันยายน 2563 นายดักลาส เจ อโพสทอล (DouglasJ. Apostol) ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เข้าพบนายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ณ ห้องปฏิบัติงานผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดระนอง เพื่อศึกษาทำความข้าใจนโยบายการพัฒนาแลนด์บริดจ์ (ท่าเรือน้ำลึก รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์) เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน และนโยบายคลองไทย รวมถึงการส่งเสริมโอกาสของนักลงทุนต่างชาติ และภาคเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัด หลังจากครม.มีมติล่าสุดเมื่อ 15 กันยายน 2563 อนุมัติงบจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนและตัวแบบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลากรูปแบบเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันในพื้นที่ SEC คาดว่าเป็นตัวเลือกแทนโครงการขุดคลองไทย
นานาชาติเกาะติด
นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่าว่า จากนโยบายของรัฐบาลไทยในการเดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor-SEC) และนโยบายการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานคมนาคมหลากรูปแบบ เชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทรระหว่างชุมพร-ระนอง และโครงการอื่นๆ นั้นปรากฏว่าเป็นที่สนใจของชาติต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะที่มีบทบาทสูงในเวทีโลก ต่างส่งตัวแทนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนอง และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ SEC เพื่อรวบรวมข้อมูลความคืบหน้าในด้านต่างๆ พร้อมกับศึกษาสภาพพื้นที่เสนอรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุน ที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ SEC ต่อไป
ด้านนายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า นับแต่รัฐบาลเห็นชอบกรอบแนวทางพัฒนา SEC เมื่อ 21 สิงหาคม 2561 ตามที่สภาพัฒนฯ เสนอแล้วนั้น มีผู้สนใจจากหลากหลายชาติเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนองต่อเนื่อง เพื่อขอทราบข้อมูลรายละเอียด ความคืบหน้าแผนพัฒนาในพื้นที่ และโอกาสการลงทุน รวมทั้งนายเจค็อป ซูลท์ซ (Jacob Schuitz) เลขานุการเอกและเจ้าหน้าที่แผนกเศรษฐกิจ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประเทศไทย ได้เคยมาเข้าพบสอบถามข้อมูลไปแล้วเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561
เชื่อมฐานผลิตEEC-SEC
รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการพัฒนา SEC ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ภายใต้กรอบการพัฒนา 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) 2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวชายทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) 3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based & Processed Agricultural Products) และ 4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม (Green & Culture)
โครงการที่เป็นหัวใจขับเคลื่อน SEC คือ โครงข่ายคมนาคมชุมพร-ระนองเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งข้ามคาบสมุทร นอกจากการก่อสร้างขยายถนนเพชรเกษมช่วงชุมพร-ระนอง เป็น 4 เลน ซึ่งกรมทางหลวงดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังต่อสายทางไปถึงพังงา ยังมีแผนลงทุนเส้นทางรถไฟสายใหม่ชุมพร-ท่าเรือระนอง ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบด้านวิศวกรรมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะทาง 108 กิโลเมตร วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
เส้นทางรถไฟสายใหม่ที่แยกจากโครงข่ายสายทางรถไฟทางคู่ภาคใต้ที่ชุมพรไปถึงท่าเรือระนอง เพื่อเป็นโครงข่ายขนส่งทางรางเชื่อม 2 ฐานผลิต คือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมก้าวหน้าตามแผนประเทศไทย 4.0 ผลิตสินค้าแล้วสามารถส่งทางรถไฟไปท่าเรือระนอง เพื่อส่งออกสู่ตลาดกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล (บิมสเท็ค )ประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ภูฏาน และเนปาล ที่มีประชากรกว่า 1.5 พันล้านคน และสามารถขยายตลาดสู่ตะวันออกกลาง-ยุโรปในอนาคต ขณะเดียวกันก็รับวัตถุดิบลงท่าเรือระนอง หรือวัตถุดิบ-สินค้าขั้นกลางจากพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ส่งขึ้นรถไฟไปเข้าโรงงานในอีอีซี
รัฐบาลยันSECไม่สะดุด
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ล่าสุดรัฐบาลเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนใน “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge)” คาดจะรู้ผลกลางปี 2566 ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมอย่างครบถ้วน ระหว่าง EEC (ฝั่งอ่าวไทย) และ SEC (ฝั่งอันดามัน)
“แม้เศรษฐกิจประเทศจะอยู่ในภาวะหดตัวเช่นเดียวกับประเทศทั่วโลกเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 รัฐบาลไม่ได้อยู่นิ่งเฉยรอความหวังจะถึงวันเศรษฐกิจดีขึ้น แต่เดินหน้าสร้างโอกาสให้ประเทศด้วยแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายชัดเจน โครงการ SEC จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นในการลงทุนภาคอุตสาหกรรม และสามารถยกระดับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ SEC จะเป็นประตูเศรษฐกิจด้านตะวันตกของไทยสู่เอเชียใต้ สามารถเชื่อมโยงกับ EEC ทำให้ต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ต่ำลง และจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคที่มีศักยภาพและเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของเมืองและการท่องเที่ยวด้วย” รองโฆษกฯ กล่าว
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 1 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,613 วันที่ 27-30 กันยายน พ.ศ.2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’
เปิด PPP ชิง ท่าเรือน้ำลึก ชุมพร-ระนอง เชื่อมแลนด์บริดจ์-แหลมฉบัง