ททท.อุดรฯปลุกเที่ยวออกพรรษาอีสานเหนือ จับมือหนองคาย-บึงกาฬ จัดจุดรอชมปรากฎการณ์"บั้งไฟพญานาค" กระจายตลอดระยะทางนับร้อยกิโลเมตรริมน้ำโขง เพิ่มความสะดวกด้วยแพลตฟอร์มแผนที่ดิจิทัล-คิวอาร์โค้ด นำทางนักท่องเที่ยวไปยังตำแหน่งที่ต้องการ พร้อมแนะเส้นทางท่องเที่ยวเชิงศรัทธา-วัฒนธรรมหลากหลายทั่วพื้นที่
นางภาวนา ประจิตต์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานอุดรธานี เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงเทศกาลออกพรรษาปี 2563 นี้ ทางททท.สำนักงานอุดรธานี ร่วมกับจังหวัดหนองคาย เทศบาลเมืองหนองคาย และอำเภอที่ตั้งอยู่ตามริมแม่น้ำโขง จนถึงจังหวัดบึงกาฬ จัดงานประเพณีออกพรรษาและบั้งไฟพญานาคโลก ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.- 4 ต.ค.2563 โดยกระจายกันจัดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่อำเภอสังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ พื้นที่เขตเทศบาลเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี และจังหวัดบึงกาฬ เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวของพื้นที่
ทั้งนี้ ไฮไลท์งานเทศกาลออกพรรษาคือ ในวันศุกร์ที่ 2 ต.ค. ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นออกพรรษา ที่ทุกปีก็จะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์บั้งไฟพญานาคในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลยเรื่อยมาถึงบึงกาฬ โดยหลังเวลา 18.00 น. ไปจนถึงเวลาประมาณ 4 ทุ่ม. ซึ่งจะมีลูกไฟสีแดงอมชมพู ผุดขึ้นมาจากใต้น้ำตามแหล่งต่าง ๆ ของแม่น้ำโขงขึ้นไปในท้องฟ้าสูงประมาณ 5-10 เมตร แล้วก็แสงจะดับไปเฉย ๆ โดยไม่มีการวกตกกลับลงมายังพื้นน้ำให้เห็น ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าได้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมาจากสาเหตุใด จนกลายเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่นักเดินท่องเที่ยวต้องเดินทางไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้งหนึ่งในชีวิต ปัจจุบันได้ถูกนำเข้าบรรจุในปฏิทินการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำหรับกิจกรรมสำคัญ ๆ ตามวัฒนธรรมความเชื่อถือของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างช้านาน ได้แก่ พิธีการบวงสรวงพญนานาค การรำบวงสรวงพญานาค ที่เชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในลำแม่น้ำโขง เช่นที่บริเวณแก่งอาฮง อ.รัตนวาปี ซึ่งเป็นสะดือแม่น้ำโขง เชื่อกันว่าเป็นถ้ำที่อยู่อาศัยของพญานาค การลอยกระทงด้วยกาบกล้วย กะลามะร้าว การไหลเรือไฟ และพิธีกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นก็เป็นกิจกรรมเสริม เช่นการจัดให้มีการขายผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นเมือง ของที่ระลึก การจัดกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้และความสนุกสนานให้กับท้องถิ่นชุมชน
ปีนี้เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเปิดสถานที่รอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคให้เพิ่มมากขึ้น ททท.สำนักงานอุดรธานี ร่วมกับทางจังหวัดหนองคาย ได้มีการจัดทำระบบปฏิบัติการหรือ Platform เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานงานโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งาน นักท่องเที่ยวด้วยแผนที่ดิจิทัล(Smart map) ที่จะนำทางเข้าสู่เส้นทางมหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง ตามพื้นที่ต่าง ๆได้โดยสะดวก ไม่ต้องคอยแออัดกันในสถานที่เดียวกัน พื้นที่การจัดกิจกรรมต่าง ๆ หรือจุดแจ้งเหตุฉุกเฉิน จุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น จุดบริการสาธารณะ จุดบริการต่าง ๆ อาทิ ปั้มน้ำมัน ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก สถานที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไป ตลอดจนสามารถสอบถามถึงถนนหลวง เส้นทางต่าง ๆ ที่จะนำเข้าไปสู่แหล่งท่องเที่ยวนั้น สามารถที่จะดาวน์โหลดฟรีเพื่อเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่ https://beyondcity.me/SubUl//- บั้งไฟพญานาค
นางภาวนากล่าวอีกว่า ขณะการจองที่พักตั้งแต่โรมแรมถึงโฮมสเตย์ชุมชน มีคำสั่งจองล่วงหน้าแล้วกว่า 70% คาดว่าจนถึงช่วงวันงานการจองที่พักโรงแรมต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด น่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก โดยภาพรวมแล้วใน 3 จังหวัดดังกล่าวนั้นมีห้องพักมากพอรองรับนักท่องเที่ยวนักเดินทางได้
“คาดหวังว่าหลังจากที่ชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในคืนวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.แล้ว นักเดินท่องเที่ยวก็อาจจะใช้ช่วงเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่เหลืออีก 2 วัน เดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ตามที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว หรือเดินทางไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ศักดิ์สิทธิต่าง ๆ ต่อเนื่องไปด้วย
ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามรายละเอียด จุดหมายการเดินทาง รวมถึงข้อมูลที่พักโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว และอื่น ๆ ได้จาก ททท.สำนักงานอุดรธานี หมายเลข 042-325407 หรือ 081-5927075 (ผอ.สำนักงานฯ) ศูนย์บริการการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย หมายเลข 042-421326 หรือที่ www.tourismthailand.org เทศบาลเมืองหนองคาย โทร.042-420574 เทศบาลตำบลโพนพิสัย โทร.042-405563 หรือ คิวอาร์โค้ด ข้างล่าง และขอให้รักษามาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตลอดการท่องเที่ยวด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักเที่ยวเริ่มเยือนสกายวอล์กวัดผาตากเสื้อ"หนองคาย"
จัดระเบียบใหม่ "คำชะโนด" นำร่องเปิดแหล่งเที่ยวอุดรฯ
"วัดภูตะเภาทอง" Unseen แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะ
ผุดโปรเจค500ไร่สร้าง “แลนด์มาร์ค”บึงกาฬ
ที่มา ททท.สำนักงานอุดรธานี